ค้นหา

เครื่องทำความสะอาดสาหร่ายพวงองุ่นด้วยการใช้กระแสไฟฟ้า

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เข้าชม 416 ครั้ง

นักวิจัย :  รศ.ดร ปิติยา กมลพัฒนะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา :

สาหร่ายทะเลสีเขียวเม็ดกลม เรียงกันเป็นช่อคล้ายพวงองุ่น หรือที่รู้จักในชื่อ ‘สาหร่ายพวงองุ่น’ นั้น จัดเป็นหนึ่งในอาหารที่กำลังมาแรงอย่างมาก เนื่องจากมีรสชาติอร่อย สามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู และยังขึ้นชื่อว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยแร่ธาตุ กากใย วิตามิน กรดไขมันและกรดอะมิโนที่จำเป็นหลายชนิด จึงเหมาะต่อสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวาน,ความดันและคนปกติทั่วไปเพราะให้พลังงานน้อยแต่มีคุณค่าทางอาหารสูง

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นมากขึ้นในหลายจังหวัดโดยเฉพาะทางภาคใต้ โดยนิยมเพาะเลี้ยงกันในบ่อดิน ทั้งเลี้ยงบนพื้นบ่อดินและบนแผงเพาะเลี้ยง และสูบน้ำทะเลเข้ามาหมุนเวียนใช้ในฟาร์มเพาะเลี้ยง  เมื่อต้องการเก็บเกี่ยวสาหร่ายพวงองุ่นที่มีขนาดความยาวและความสมบูรณ์ของเม็ดและสีเขียวสด มักจะมีตะกอนดิน คราบโคลน จากบ่อเพาะเลี้ยง ตลอดจนเชื้อโรคและสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น ลูกสัตว์น้ำติดมาด้วย ดังนั้น ขั้นตอนการล้างทำความสะอาดอย่างมีมาตรฐานและพิถีพิถันจึงมีความสำคัญอย่างมาก  เพราะสาหร่ายพวงองุ่นที่ได้รับการคัดคุณภาพ ต้องมีความสด สะอาด และตัดแต่งเป็นช่อสวยงามเท่านั้น เกษตรกรจึงสามารถจำหน่ายได้ในราคาดี

บ่อเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
การเก็บเกี่ยวสาหร่าย

วิธีทำความสะอาดสาหร่ายพวงองุ่นด้วยวิธีสกิมเมอร์ (skimmer) เป็นวิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมักทำให้สาหร่ายช้ำ เมื่อนำสาหร่ายที่ผ่านการล้างด้วยวิธีดังกล่าวไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็คตรอน พบความเสียหายเกิดขึ้นชัดเจน ส่งผลต่อการเก็บรักษา จึงจำเป็นต้องศึกษาหาวิธีการทำความสะอาดวิธีใหม่ที่ใช้เวลาสั้น และลดแรงกระแทกที่จะเกิดต่อสาหร่าย ทางทีมผู้วิจัยจึงพัฒนาเครื่องทำความสะอาดสาหร่ายพวงองุ่นด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าขึ้นมา

จุดเด่นนวัตกรรม :

  • ช่วยลดเวลาในการทำความสะอาดจาก 1-3 วัน เหลือเพียง 3 นาที
  • ลดแรงกระแทกที่จะเกิดต่อสาหร่าย
  • มีกำลังผลิตในการทำความสะอาดสาหร่ายองุ่นมากกว่า 12 กิโลกรัมต่อ 1 ชั่วโมง
  • ลดต้นทุนในการทำความสะอาดต่อกิโลกรัมได้ถึงร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับการทำความสะอาดแบบดั้งเดิมด้วยวิธีสกิมเมอร์

ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :

ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 0-2562-5020

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=78990