ค้นหา

ปลดล็อคกีฬาสี ได้เวลาทำเพื่อชาติ อินทรีย์ผนึกเคมี ดันครัวไทยสู่ครัวโลก

Ongben
เข้าชม 295 ครั้ง

กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงร่วมกับสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กรมวิชาการเกษตร และเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดภัย (จีเอพี) พร้อมด้วย 4 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคก้าวไกล เปิดเวทีเสวนา “อินทรีย์-เคมี โอกาสของไทย ภายใต้วิกฤติอาหารโลก”

“3 เดือนนับจากนี้ โลกจะเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง เนื่องจากวัตถุดิบการเกษตรที่จะนำมาทำอาหารลดลง แถมกว่า 30 ประเทศ ยังงดส่งออกวัตถุดิบต่างๆ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบทางเกษตรที่สำคัญที่สุดของโลก แม้จะไม่สามารถขยายพื้นที่ทำการเกษตรไปได้มากกว่านี้ แต่ก็สามารถผลิตอาหารเพียงพอต่อความต้องการของประชากรได้ และยังมีการส่งออกเกือบ 100% เป็นสินค้าเกษตรปลอดภัย ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสที่ช่วงนี้เพิ่มศักยภาพของผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหาร โดยหันมาให้ความสำคัญกับจีเอพี เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้น”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เกริ่นถึงโอกาสของไทยที่กำลังเปิดกว้างในภาวะวิกฤติอาหารโลก…ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมฯได้ขับเคลื่อน One FTI โดย 45 กลุ่มอุตสาหกรรมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐานตรงตามความ ต้องการตลาด โดยขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องหันมาสนับสนุนการผลิตแบบจีเอพีอย่างจริงจัง ทั้งในด้านนโยบายและแนวทางปฏิบัติ เพราะการใช้สารเคมีในการผลิตแบบจีเอพีอย่างมีความรับผิดชอบทำให้ได้ผลผลิตคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ได้ผลผลิตสูง คุ้มค่า ปลอดภัยต่อทุกฝ่าย เกิดความยั่งยืน นโยบายรัฐจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เพราะเราต้องเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิม

นายสุรวุฒิ ศรีนาม เกษตรกรผู้ปลูกผักแบบจีเอพี กรรมการบริหารบริษัท เรียลฟาร์ม จํากัด อธิบายถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดโลก แต่มีไม่มากนัก รวมทั้งความท้าทายสำคัญของเกษตรอินทรีย์ คือ การควบคุณภาพ ปริมาณการผลิตต่ำ และผลผลิตไม่มีความต่อเนื่อง แทบไม่สามารถตอบสนองต่อภาคอุตสาหกรรมอาหารได้ สิ่งนี้ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องล้มเลิกการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ไป หันมาผลิตเกษตรแบบจีเอพีที่ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ด้วยเพราะผู้ซื้อสนใจในเรื่องราคาที่สามารถแข่งขันได้ และสินค้าได้ตามมาตรฐาน

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ถอดบทเรียนจากประเทศศรีลังกาจากการเลิกใช้สารเคมีเกษตรเมื่อเมษายน 2564 พบว่า ในระยะเวลาเพียง 6 เดือนหลังประกาศ รัฐบาลศรีลังกาประสบปัญหามากมาย เช่น ผลผลิตด้านการเกษตรลดลง มูลค่าทางเศรษฐกิจเสียหายกว่า 774 ล้านเหรียญ จากข้าวและใบชา ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 5 เท่า ยากจนเพิ่มขึ้น กว่า 5 แสนราย จนที่สุดต้องพิจารณาใหม่และประกาศให้กลับมาใช้ปุ๋ยเคมีได้เช่นเดิมในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน แต่ยังมีนโยบายห้ามใช้สารเคมีเกษตรอื่นๆ จึงเป็นความท้าทายใหญ่ของศรีลังกาว่าจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติด้านอาหารได้หรือไม่ ดังนั้น ไทยต้องพิจารณาให้รอบด้าน โดยจัดให้มีการประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต้นทุนและความคุ้มค่าของการใช้สารเคมีเกษตร ดังประเทศชั้นนำด้านการเกษตรของโลก อาทิ บราซิล ญี่ปุ่น เม็กซิโก จีน และสหรัฐอเมริกา ล้วนมีการประเมินทั้งสิ้น

บทสรุปของวงเสวนา ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้อง ต้องผสมผสานทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน มุ่งเน้นทั้งในด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรเคมี และเกษตรอินทรีย์-เคมี ไม่ให้เกิดการแบ่งแยกเป็นกลุ่มเกษตรเคมีหรืออินทรีย์เช่นปัจจุบัน โดยเกษตรกรจะสามารถเลือกการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรปลอดภัยได้เองตามความเหมาะสม ใครทำเกษตรอินทรีย์ก็ต้องทำให้ได้ตามมาตรฐาน ส่วนเกษตรปลอดภัย ก็ต้องบริหารจัดการเพาะปลูกให้ได้มาตรฐานจีเอพี ใช้สารเคมีเกษตรอย่างปลอดภัยและรับผิดชอบ ควบคู่กับการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เพื่อเตรียมรับมือกับภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลก เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจด้านสินค้าเกษตรไทย ตอกย้ำจุดยืน

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2429551