ค้นหา

ธรรมนัส นำทีมลงพื้นที่สมุทรสงคราม แก้ปลาหมอสีคางดำระบาด ยกเป็นวาระแห่งชาติ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เข้าชม 36 ครั้ง

รมว.ธรรมนัส นำทัพกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่สมุทรสงครามแก้ไขปัญหาปลาหมอสีคางดำแพร่ระบาด ประกาศยกเป็นวาระแห่งชาติ โดยกรมประมงยก 6 มาตรการแก้ไขเร่งด่วน เพื่อใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพกำจัด ลดจำนวนลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2567 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามแนวทางแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ และปัญหาภาคการประมง โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา จ.สมุทรสงคราม 

รมว.ธรรมนัส เปิดเผยว่า ปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำเป็นปัญหาเรื้อรังมากว่า 18 ปี ส่งผลกระทบกับพี่น้องในหลายจังหวัด โดยได้มีการสั่งการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานในการแก้ปัญหา และผมจะนำเรื่องการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติ ในส่วนของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง หอย ปู ปลา ที่ได้รับผลกระทบได้มอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตร ในการสำรวจความเสียหาย และวางแผนการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป และจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทั้งชุดใหญ่และชุดจังหวัด โดยจะมีคณะกรรมการจากหลายภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาและกำจัดปลาหมอคางดำอย่างเอาจริงเอาจัง และเป็นรูปธรรมมากที่สุด สำหรับแนวทางการาภาคประมงในด้านต่างๆ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการ เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดในรูปแบบการบูรณาการทั้งภาครัฐและเอกชน

กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง มีนโยบายให้การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอสีคางดำในพื้นที่สมุทรสงครามมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ดังนี้

1) มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และมีการพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอสีคางดำ
2) มาตรการที่ 2 กำจัดปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 ปล่อยปลาผู้ล่า 154,000 ตัว
3) มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอสีคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ ส่งโรงงานเพื่อผลิตปลาป่น นำไปเป็นเหยื่อสำหรับเลี้ยงปลากะพงขาว และทำน้ำหมักชีวภาพ
4) มาตรการที่ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอสีคางดำในพื้นที่เขตกันชน หน่วยงานกรมประมงลงพื้นที่สำรวจจังหวัดที่มีลำน้ำเชื่อมต่อกับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง
5) มาตรการที่ 5 สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอสีคางดำ เพื่อป้องกันและพร้อมรับมือการแพร่ระบาด หาแนวทางป้องกันพร้อมทั้งส่งเสริมและกระตุ้นให้จับปลาหมอสีคางดำให้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ 
6) มาตรการที่ 6 การติดตาม ประเมินผล และบริหารโครงการ

ด้าน รมช.อรรถกร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรที่ได้ผลกระทบดังกล่าว และจะเร่งสำรวจความเสียหายตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรอย่างเต็มความสามารถ รวมถึงจะดำเนินมาตรการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างเด็ดขาด จะไม่มีการส่งเสริมให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-policy/2783515