ค้นหา

กรมส่งเสริมการเกษตร นำดาวเทียมชี้จุดเผาซ้ำซาก ยกระดับลดการเผาในพื้นที่เกษตร

กรมส่งเสริมการเกษตร
เข้าชม 70 ครั้ง

กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งยกระดับ “ลดการเผาในพื้นที่เกษตร” ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมชี้พื้นที่เผาซ้ำซาก พัฒนาระบบแจ้งเตือนเกษตรกรเป็นรายบุคคล ในการจัดการเศษวัสดุหลังเก็บเกี่ยว ผ่านแอปพลิเคชัน Farmbook และทะเบียนเกษตรกรออนไลน์ (e-Form)

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งยกระดับ “ลดการเผาในพื้นที่เกษตร” โดยการนำฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตรมาวิเคราะห์ข้อมูลครัวเรือนเกษตรกร และพื้นที่เก็บเกี่ยวรายเดือนแยกเป็นรายอำเภอ และรายตำบล เน้นหนักใน 3 พืชที่มีปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และอ้อย มาเชื่อมโยงกับข้อมูลจุดความร้อนสะสมในพื้นที่การเกษตรย้อนหลัง 1-3 ปี เพื่อกําหนดพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิดการเผาในพื้นที่การเกษตรได้ เช่น พื้นที่มีสถิติเผาซ้ำซาก พื้นที่ที่ต้องเร่งรอบการทำเกษตรอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ที่เข้าไปบริหารจัดการเศษวัสดุได้ยาก หรือพื้นที่ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรกลและแรงงาน ทำให้มีความจำเป็นต้องเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า อีกทั้งพัฒนาระบบแผนที่ให้สามารถแสดงพิกัดสถานที่ที่มีความสามารถในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น พิกัดจุดรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โรงไฟฟ้าชีวมวลจุดรับอัดฟาง หรือให้บริการเช่าเครื่องจักรอัดฟาง เป็นต้น รวมถึงยังสามารถแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ไปพร้อมกันได้อีกด้วย

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ยังได้จัดทำแผนการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีการประเมินปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทั้งหมด โดยให้นำข้อมูลการประเมินปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ยังไม่มีแผนการบริหารจัดการนำไปใช้เพื่อนำมาบริหารจัดการ โดยนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่ม และเชื่อมโยงตลาด รวมทั้งบริหารจัดการกำลังคน เครื่องจักรกล เครื่องมือและอุปกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนและดำเนินการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่เกษตรกร ผ่านหอกระจายข่าวในชุมชน วิทยุชุมชน เวทีชุมชน เวทีของส่วนราชการในพื้นที่ การฝึกอบรมเกษตรกรในทุกโครงการ รวมถึงช่วงเวลาที่เกษตรกรมาติดต่อราชการที่สำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัด หรือมาขอรับบริการ ณ ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช และขั้นตอนการประชาคมในการขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร เพื่อชี้แจงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเผาในพื้นที่การเกษตร ทั้งต่อตนเอง ชุมชน และสังคม นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการ และเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมทั้งชี้แจงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรการ และแจ้งบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนตามกฎหมาย

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ยังเร่งดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในช่องทางการขึ้นและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรผ่านระบบออนไลน์ ทั้ง 2 ช่องทาง คือ แอปพลิเคชัน Farmbook และ ทะเบียนเกษตรกรออนไลน์ (e-Form) โดยเพิ่มฟังก์ชันระบบแจ้งเตือนเกษตรกรเป็นรายบุคคล (Personal – notification System) ที่แจ้งปลูกไว้ในระบบทะเบียนเกษตรกรและอยู่ในช่วงใกล้เก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ให้องค์ความรู้เกี่ยวกับ การจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เช่น การไถกลบ การทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น และพิกัดสถานที่ที่มีความสามารถในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่อยู่ใกล้กับแปลงปลูกโดยอ้างอิงจากเทคโนโลยีดาวเทียมเช่น เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เมื่อแจ้งปลูกในทะเบียนเกษตรกรเรียบร้อยแล้ว เมื่อใกล้ถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต

เมื่อเกษตรกรเข้าแอปพลิเคชัน Farmbook หรือ ทะเบียนเกษตรกรออนไลน์ (e-Form) ระบบกล่องแจ้งเตือน จะมีการแจ้งเตือนในส่วนของการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวเช่น องค์ความรู้การจัดการฟาง ตำแหน่งจุดรับอัดฟาง หรือเช่าเครื่องจักรอัดฟาง จุดรับซื้อฟางอัดก้อน โรงไฟฟ้าชีวมวลที่อยู่ใกล้เคียง เป็นต้น และในอนาคตจะดำเนินการพัฒนาระบบแผนที่ให้สามารถประมวลผลแสดงข้อมูลทับซ้อนกัน ระหว่างฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ฐานข้อมูลจุดความร้อนสะสมในพื้นที่การเกษตร พิกัดสถานที่ที่มีความสามารถในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อให้การส่งเสริมการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้การจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างถูกต้องทดแทนการเผา ช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ลดต้นทุนในการผลิต การนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-technology/2773874