หมาก เป็นพืชลำต้นเดี่ยวไม่แตกกอ ไม่มีรากแก้ว แต่รากฝอยกระจายรอบโคนต้น จึงทนทานในสภาพน้ำท่วมขังได้นาน เนื้อต้นหมากเป็นเสี้ยนยาวจับตัวกันแน่น มีเนื้อไม้อ่อนนุ่มคล้ายฟองน้ำ ทำให้ต้นหมากเหนียวและสามารถโยกโอนเอนได้มาก สมัยก่อนคนเก็บหมากผู้เชี่ยวชาญจะโยกเอนลำต้นหมากจากต้นหนึ่งไปเก็บหมากอีกต้นหนึ่งได้อย่างสบาย
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์มากที่สุดคือ ผลหมาก ซึ่งจะออกเป็นพวงหรือเรียกว่าทะลาย 1 ทะลายจะมีผลอยู่ประมาณ 10-150 ผล ผลอ่อนสีเขียวเข้มเรียกหมากดิบ ผลแก่ผิวเปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้มเรียกหมากสุกหรือหมากสง ส่วนที่นำมากินคือเมล็ด เมื่ออ่อนจะนิ่ม พอสุกเต็มที่เนื้อจะแข็งมีสีเหลืองอ่อนๆ ถึงสีเหลืองเข้มอมแดง
การนำผลหมากออกมาในแต่ละครั้งค่อนข้างที่จะใช้เวลานาน และอันตรายเพราะต้องใช้มีดที่อาจเกิดอันตรายได้ คุณมลฤดี อุบลจินดา และ คุณสลิลทิพย์ พันธ์แก้ว เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน “อุปกรณ์ทำหมากแห้ง” เพราะเกษตรกรในอำเภอปลายพระยามีการปลูกหมากเป็นจำนวนมาก และผลหมากสามารถนำมาทำประโยชน์ในแง่ของการบริโภค ใช้เป็นยารักษาโรค ใช้ในพิธีกรรมการศาสนา ในประเพณีต่างๆ และใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ
คุณมลฤดี เล่าว่า เกษตรกรในพื้นที่นิยมแปรรูปจากหมากสดเป็นหมากแห้งก่อนนำไปขาย เนื่องจากหมากแห้งจะค่อนข้างที่จะมีราคาสูงกว่าหมากสด ซึ่งในปัจจุบันการผลิตหมากแห้งยังคงใช้แรงงานคนในการดำเนินงาน ซึ่งต้องใช้เวลาและแรงงานคนจำนวนมาก อีกทั้งผู้ทำหมากแห้งต้องมีความชำนาญ เพื่อความรวดเร็วและไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ คุณมลฤดีและคณะจึงได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ทำหมากแห้งขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
“อุปกรณ์ที่คิดขึ้นมาก็เพื่อตอบโจทย์ให้กับเกษตรกร เป็นอุปกรณ์ที่นอกจากช่วยทำหมากแห้งแล้ว ยังช่วยลดเวลาในการทำหมากแห้งได้อีกด้วย และที่สำคัญเป็นอุปกรณ์ที่สามารถช่วยลดอุบัติเหตุจากการทำหมากแห้งได้อีกด้วย เพราะค่อนข้างที่จะมีความปลอดภัยในการใช้งาน”
สำหรับการใช้งานเครื่องผ่าหมากสดนั้น คุณมลฤดี เล่าว่า ได้ออกแบบอุปกรณ์ปรับขาเครื่องผ่าหมากให้ได้ตามระดับความสูงที่ต้องการ พร้อมกับวางผลหมากลงในบล็อก จากนั้นให้จับด้ามคันโยกแล้วกดลงผ่าผลหมาก พร้อมกับเหยียบเพื่อกระทุ้งผลหมากที่ผ่าแล้วให้ตกลงในถุงที่รองรับไว้ พร้อมกันนี้ยังได้ผลิตเครื่องมือที่ใช้งัดหมากแห้งมาด้วย เมื่อผ่าหมากเรียบร้อยแล้ว นำปลายที่งัดหมากแห้งมาแซะด้านท้ายของผลหมากที่ผ่านการตากแห้งเรียบร้อยแล้ว จากนั้นงัดเนื้อหมากออกจากเปลือกได้ง่ายขึ้น
ซึ่งหลักการทำงานของเครื่องผ่าหมากสดนั้น การที่ได้กระทุ้งผลหมากออกแบบมาเพื่อให้ใช้คานที่มีจุกหมุนอยู่ระหว่างแรงต้านและแรงกระทำ ซึ่งคันโยกผ่าหมากสดใช้หลักการคานอันดับสอง ซึ่งเป็นคานที่มีจุดหมายอยู่ที่ปลายข้างหนึ่งของคาน จึงทำให้แรงต้านอยู่ระหว่างจุดหมุนและแรงกระทำ และเมื่อผ่าหมากสดแล้วที่กระทุ้งผลหมากจะช่วยในการผ่อนแรงในการเอาหมากออกจากบล็อก โดยตัวคันโยกของเครื่องผ่าหมากที่อยู่ปลายข้างหนึ่งจะช่วยผ่อนแรงทำให้การผ่าผลหมากนั้นง่ายและเร็วขึ้น
“การปรับความสูงของเครี่อง โดยให้ขาเครื่องผ่าหมากสดเป็นการปรับให้ใช้ได้แต่ละบุคคล ถือว่าข้อนี้เป็นสิ่งที่เราใส่ใจเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยผ่อนแรงในการผ่าหมากให้กับแต่ละบุคคลแบบแตกต่างกันไป พร้อมทั้งเครื่องผ่าหมากสดเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่มีน้ำหนักมาก สามารถผ่าหมากได้ครั้งละ 3 ผล และมีบล็อกวางผลหมากป้องกันการกลิ้งไปมาของผลหมากได้เป็นอย่างดี”
ซึ่งขนาดและน้ำหนักของเครื่องผ่าหมากสดสิ่งประดิษฐ์นี้ มีความกว้างอยู่ที่ 40 เซนติเมตร ยาว 47 เซนติเมตร และสูงอยู่ที่ 73 เซนติเมตร และน้ำหนักทั้งหมดอยู่ที่ 8.2 กิโลกรัม จากสิ่งประดิษฐ์นี้เองทำให้เกษตรกรในพื้นที่ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนที่ทำหมากแห้งขาย เพราะเป็นนวัตกรรมกึ่งอัตโนมัติสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนที่ประกอบอาชีพทำหมากแห้งขายได้
ซึ่งทำให้คนในชุมชนมีนวัตกรรมที่ดีในการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เพื่อแก้ปัญหาในการประกอบอาชีพทำหมากแห้งขาย อีกทั้งยังผลิตหมากแห้งได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย และที่สำคัญนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์นี้ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาชุมชนอีกด้วย
“ในอนาคตเราจะมีการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่ใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพทำหมากขาย โดยที่คนในชุมชน ผู้สนใจทั่วไป หรือโรงงานอุตสาหกรรมนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายต่อไปได้ ซึ่งอุปกรณ์ทำหมากแห้งนี้ สามารถลดอุบัติเหตุและลดเวลาในการทำหมากแห้งได้เป็นอย่างดี”
หากสนใจอุปกรณ์ทำหมากแห้งหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โรงเรียนปลายพระยาวิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตรัง กระบี่ หมายเลขโทรศัพท์ 086-741-9031