ค้นหา

เลี้ยงปูนาพันธุ์เมืองลีง ในนาข้าว ปูพันธุ์ท้องถิ่น สุรินทร์

คุณสังข์ โคตรวงษา
เข้าชม 323 ครั้ง

ผู้เขียน จิตรกร บัวปลี

ในพื้นที่ “เมืองลีง” นั้นอยู่ขั้นกลางเขตรอยต่อระหว่างสุรินทร์ กับบุรีรัมย์ มีสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมปราสาทหินจอมพระ โบราณสถานเมื่อครั้งสมัยพระชัยวรมันที่ 7

“เมืองลีง” ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เมื่อหมดหน้านาก็จะว่างงาน แต่ ลุงสังข์ หรือ คุณสังข์ โคตรวงษา ในวัย 58 ปี เป็นชาวนาโดยกำเนิด หมดหน้านาไม่รอฟ้ารอฝน ใฝ่หาความรู้และมองเห็นช่องทางในการเพาะเลี้ยงปูนา ที่บ้านหนองขาม ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์

ป้ายปากทางเข้าหน้าฟาร์มปูนาโมเดล แหล่งเรียนรู้การเพาะเลี้ยงปูนา ของลุงสังข์ โคตรวงษา

ลุงสังข์ เล่าว่า เมื่อช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ตนเองเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินชีวิต ทุกอย่างหยุดชะงักหมด ทั้งคนยากดีมีจนได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน แต่ชาวบ้านชาวนาอย่างเราๆ ก็ได้แต่นั่งเฝ้าแปลงนาไปวันๆ ได้แต่ทำใจ แต่ไม่ย่อท้อ

“ในน้ำมีปลา ในนามีปู” ลุงสังข์นั่งดูปูที่อยู่ในแปลงนา ก็เริ่มเกิดแนวคิดและศึกษาการใช้ชีวิตของปูนา พร้อมๆ ไปกับการแสวงหาการเรียนรู้เพิ่มเติมจากนักวิชาการ โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่นำความรู้มาจัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงปูนาในระดับชุมชน ในช่วงโควิด-19

ลุงสังข์เป็นหนึ่งในจำนวนผู้อบรมที่อยากเพิ่มพูนเรื่องการเลี้ยงปูนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทำให้ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงปูนาอย่างไม่ยากเย็น จนกลายเป็นที่มาผลิตภัณฑ์ ฟาร์มปูนา โมเดล จากท้องถิ่นตำบลเมืองลีง เข้าสู่งานแสดงสินค้าโอท็อปในเมืองหลวง

ลุงสังข์ประสบความสำเร็จได้อย่างไร จากการบริหารจัดการที่นา 15 ไร่ของลุงสังข์ แบ่งทำสวนเกษตรผสมผสาน 8 ไร่ และอีก 1 ไร่กว่า เคยแบ่งเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะตลาดปลา ตลาดกบ มีมากล้นเกินดีมานด์ในตลาด

สถานที่จริงการเพาะเลี้ยงปูนาในแปลงนาข้าว ที่เลียนแบบธรรมชาติ

เมื่อมองไปอีกฟากในแปลงนาที่ตัวเองดำนาปลูกข้าวมาทั้งชีวิต ก็พบเห็นปูนา เดิมข้ามไปมาหาสู่กัน ลุงสังข์จึงเริ่มมองเห็นลู่ทางเพื่อมาเอาดีจากการเพาะเลี้ยงปูนา

เป็นที่รู้กันสำหรับเด็กบ้านนอกคอกนา อย่างเราๆ คงจะคุ้นชินที่ได้กินปูหลน กินน้ำปูนาจากฝีมือแม่ ที่ตำน้ำปูให้กินบ่อยๆ อร่อยๆ นัก อย่าบอกใครเชียว

เมื่อคิดได้ ลุงสังข์เป็นคนทำจริง จึงเริ่มหาจับปูนามาปล่อยเลี้ยงในแปลงนาที่ล้อมสังกะสี ล้อมกระเบื้องที่ตระเตรียมไว้ก่อนแล้ว เพื่อไม่ให้ปูนาปีนป่ายออกจากแปลงทดลอง และปูนาอีกจำนวนก็ขอแบ่งซื้อจากชาวบ้านใกล้เคียง จำนวน 4 กิโลกรัมกว่าๆ ราวๆ ประมาณ 200 ตัว แล้วนำมาปล่อยเลี้ยงลงแปลงนาข้าวที่ล้อมกระเบื้องไว้ดังว่านี้ (จำนวนครึ่งงาน) ซึ่งเป็นการปล่อยเลี้ยงปูนาที่เลียนแบบธรรมชาติ ในแปลงนาข้าวที่ปักดำไว้ก่อนหน้าแล้ว

นักวิชาการและชาวบ้านอีกหลายคนก็เป็นห่วงกังวลกลัวกันว่า การเลี้ยงปูในแปลงนาข้าว เดี๋ยวมันก็จะกัดกินข้าวเสียหาย แต่ลุงสังข์ก็ไขข้อข้องใจ ตอบโจทย์ให้เห็นว่า เหตุใดทำไมปูถึงกัดกินต้นข้าวเสียหาย แท้ที่จริงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในแปลงนาข้าวต่างหาก ถ้าเลี้ยงระดับน้ำอยู่เพียงแค่โคนต้นข้าว 10 เซนติเมตร ปูก็จะไม่กัดกินข้าว แต่ถ้าปล่อยระดับปริมาณน้ำเกินครึ่งต้นข้าวขึ้นไปปูก็จะสามารถปีนขึ้นไปกัดกินต้นอ่อนๆ ยอดข้าว และเกี่ยวใบข้าวอ่อนๆ มากินได้นั่นเอง

ฐานเรียนรู้ การเลี้ยงปูนาในบ่อดินที่สร้างเลียนแบบธรรมชาติ

ข้อคิดดีๆ ที่อยากจะแนะนำเกษตรกรอีกอย่างถ้าคิดจะเลี้ยงปูนาตามธรรมชาติ ไม่ควรนำปูที่อยู่ในรูแล้วขุดขึ้นมาใหม่ๆ มาเลี้ยงในบ่อซีเมนต์หรือบ่อปูนอย่างเด็ดขาด เพราะปูจะง่อยเปลี้ยเสียขาและตายในที่สุด ควรนำปล่อยเลี้ยงลงในบ่อดินธรรมชาติไปเลย เพื่อให้เขาได้ขุดรูอยู่เป็นที่หลบภัย

ช่วงแรกๆ ที่ลุงสังข์เลี้ยงก็ลองผิดลองถูก ปูๆ ปลาๆ รอดบ้างไม่รอดบ้าง ซึ่งต้องเฝ้าสังเกตพฤติกรรมลักษณะนิสัยของปู ว่าปูกินอยู่อย่างไร ตัวผู้ตัวเมีย ตัวเล็กตัวใหญ่ ไปจนถึงการทำคลอดปู อัตราการรอด และการอนุบาลปู ตลอดจนการเพาะขยายพันธุ์ปูเพื่อเพิ่มประชากรปูนา เป็นสเต็ปต่อไป

ลุงสังข์ บอกว่า การเลี้ยงปูไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องเอาใจใส่ดูแลอย่างละเอียด ขนาดภรรยายังถอดใจ ไม่ขอยุ่ง

ลุงสังข์ไม่หวงวิชา อยากรู้เรื่องการทำคลอด การตั้งท้อง การวางไข่ปู ต้องอ่านให้จบแล้วนำไปต่อยอด เบื้องต้นเราต้องเรียนรู้ลักษณะนิสัยของปู คล้ายๆ กับกบและอึ่ง เมื่อรู้ว่าจะเข้าหน้าแล้งก็จะเก็บน้ำเชื้อไว้ในตัวแล้วขุดรูอยู่เพื่อจำศิลป์แต่ยังไม่ผลิตไข่ และพอใกล้ๆ ฤดูฝนจะมา ปูมันก็จะเริ่มผลิตไข่ในตัวเองทันที เมื่อเจอฝนปูก็จะออกจากรูผสมน้ำเชื้อกับตัวผู้แล้วเขี่ยไข่ที่อยู่ในท้องให้ออกมาใช้ชีวิตต่อไป

ผลิตภัณฑ์ ผงปูนาแกงอ่อม ต้มแซ่บนัว สูตรสำเร็จบรรจุซองพร้อมกินได้ทุกพื้นที่

สำหรับปูตามธรรมชาติจะออกไข่ ออกลูกปูเพียงแค่ครั้งเดียว แต่สำหรับการเลี้ยงปูนาของลุงสังข์ ในบ่อเลี้ยงจะออกลูกปู ทุกๆ 4-8 สัปดาห์ หรือ 2 เดือนครั้ง เพราะในบ่อเลี้ยงปูจะมีน้ำหล่อเลี้ยงที่ก้นบ่อตลอดทั้งปีไม่ให้แห้งแล้ง แต่เราจะแกล้งให้มีฝนตกโดยการฉีดน้ำหรือทำสปริงเกลอร์ เป็นต้น

ส่วนการเจริญเติบโตของปูแต่ละคู่แต่ละตัว และจังหวะความพร้อมที่จะผสมพันธุ์และการผลิตไข่ก็ไม่เท่ากัน บางคู่บางตัวเจริญเติบโตช้า ตัวเล็กตัวใหญ่มีความสมบูรณ์ไม่พร้อมกัน ฉะนั้นรอบของการเจริญเติบโตและการผสมพันธุ์ของปูแต่ละรุ่นแต่ละตัวก็ไม่เท่ากัน เพราะบางตัวกินเก่งจึงโตเร็ว ซึ่งมีระยะการเจริญเติบโตลอกคราบ 30 วัน 60 วัน และโตเต็มวัยในระยะ 90 วัน ตลอดไปจนถึงการผสมพันธุ์ออกลูกและมีอายุไขอยู่ได้เพียงแค่ 2 ปี ของชีวิตปู

เรามาดูลุงสังข์ทำหน้าที่เป็นหมอตำแยทำคลอดปู ในระยะโตเต็มวัยที่ผสมพันธุ์แล้วและเริ่มตั้งท้อง ลุงสังข์ก็จะแหวกดูที่หน้าท้องปูพบเห็นลูกปูดิ้นยั้วเยี้ยเต็มหน้าท้อง ลุงสังข์ก็จะใช้ปีกขนไก่มาเขี่ยลูกปูที่หน้าท้อง หรือจับแม่ปูมาสะบัดกับน้ำเพื่อให้ลูกปูหลุดแยกออกจากท้องแม่ แล้วใส่กะละมังหรือ บ่อวงซีเมนต์ที่มีน้ำหล่อเลี้ยง และอนุบาลทิ้งไว้ เข้าสู่วันที่ 7 จึงเริ่มให้อาหารลูกปู ในมื้อแรกก็คือ สาหร่ายพืชน้ำจืดที่อยู่ตามลำคลอง หนอง บึง เขาเรียกว่า สาหร่ายหางกระรอก ลูกปูก็จะมาเกาะกินสาหร่ายชนิดนี้ เป็นพืชอาหารที่ปูชอบกินทั้งตัวเล็กตัวใหญ่กินได้หมด

เปรียบเทียบ ปูพันธุ์พระเทพ ซึ่งตัวจะใหญ่กว่า ปูพันธุ์สุรินทร์

สลับไปพร้อมๆ กับการให้อาหารปลาดุกเล็ก เอามาแช่น้ำให้ยุ่ยแล้วจึงนำไปให้ลูกปูกิน ข้อควรระวังอย่างให้เกินปริมาณ ถ้าลูกปูกินไม่หมดน้ำเสียจะมีผลต่ออัตราการรอดของลูกปู ขณะเดียวกัน ลูกปูจำนวนมากๆ ที่อยู่ในกระบะ ในกะละมังพื้นที่แคบๆ แออัด ก็ไม่ควรเลี้ยงอนุบาลเกิน 1 เดือน เพราะลูกปูเริ่มโตมันก็จะทำร้ายกันเองและกินกันเอง ควรขยับขยายพื้นที่เลี้ยงให้กว้างๆ ขึ้น หรือแบ่งสัดส่วนไม่ให้อยู่กันอย่างแออัด และสร้างพื้นที่หลบภัยให้เขาด้วย เพราะเวลาปูลอกคราบแต่ละครั้งตัวปูจะนิ่มๆ เมื่อปูตัวอื่นเห็น ก็จะมาหนีบรัดและทำให้ตายได้ และในระยะ 30 วัน หรือ 1 เดือนนี้เอง ก็ไม่ควรจะปล่อยลูกปูเลี้ยงปะปนกับปูตัวใหญ่ๆ ในบ่อธรรมชาติเพราะปูตัวที่ใหญ่กว่า อย่างพ่อแม่พันธุ์ก็จะกินลูกตัวเองได้ ต้องให้ผ่านระยะ 2 เดือนไปก่อน หรือ 60 วัน ปูก็จะแข็งแรงเข้าสู่วัยรุ่นและสามารถเอาตัวรอดอยู่ตามธรรมชาติเองได้

เปรียบเทียบ ปูพันธุ์กำแพง ซึ่งตัวจะใหญ่กว่า ปูพันธุ์เมืองบัว เขตทุ่งกุลา

ลุงสังข์ให้ข้อมูลอีกว่า การทำคลอดปูแต่ละครั้งแต่ละรอบ จะทำคลอดแม่พันธุ์ปูจำนวน 50 แม่ แต่ละแม่พันธุ์จะมีลูกปูประมาณ 400 ตัว ส่วนอัตราการรอดของลูกปูเฉลี่ยต่อแม่ประมาณ 250 ตัว ก็จะได้ประชากรลูกปูเกือบๆ 20,000 ตัว และปล่อยเลี้ยงอนุบาลในบ่อซีเมนต์ที่มีขนาดความยาว 3 เมตร กว้าง 1.50 เมตร

ส่วนแม่พันธุ์ปูนาเมื่อทำคลอดแล้ว จึงแยกแม่พันธุ์หลังคลอด มาอนุบาล 6 วัน จนสุขภาพแข็งแรง กินอาหารได้ถึงจะปล่อยลงบ่อดินเลี้ยงตามธรรมชาติต่อไป ขณะที่แม่พันธุ์ปูนาอีกบางส่วนที่คลอดเองตามธรรมชาติในบ่อเลี้ยง ก็ยังมีลูกปูอีกหลายหมื่นตัวที่เกิดเองตามธรรมชาติ

นอกจากฟาร์มปูนา ปูท้องถิ่นเมืองลีงที่ลุงสังข์ทำการเพาะเลี้ยงอยู่นี้ ก็ยังมีปูพันธุ์พระเทพ พันธุ์กำแพง ซึ่งเป็นปูพันธุ์ตัวใหญ่ที่ลุงสังข์ทำการทดลองเพาะเลี้ยงเพื่อเปรียบเทียบด้วยเช่นกัน โดยแม่พันธุ์ตัวใหญ่ๆ ที่ว่านี้ จะมีลูกได้ถึง 1,000 ตัวต่อแม่ แต่ไม่สามารถปล่อยเลี้ยงปะปนกับปูนาท้องถิ่นได้ เพราะตัวใหญ่กว่าและดุร้าย

ผลิตภัณฑ์ปูนาทอดกรอบ 3 รส ขนาดกินพอดีคำได้ทั้งตัว

หากเกษตรกรท่านใดคิดที่จะเลี้ยงปูและทำได้จริงเหมือนลุงสังข์ รับรองว่าตลาดปูนายังไปได้อีกไกลไม่มีทางตันอย่างแน่นอน ทุกวันนี้ในฟาร์มปูนาของลุงสังข์ก็ผลิตปูไม่ทันกับจำนวนความต้องการของตลาด ขณะที่กระดองปู ส่วนที่เหลือก็เอาไปบดผสมเป็นอาหารเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ สร้างแคลเซียม สร้างรายได้ต่อไปได้อีก

ในแต่ละรอบที่ลุงสังข์ทยอยเก็บผลผลิตปูแสนกว่าตัว ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ ตัวเล็กก็ทำเป็นปูทอดกรอบสามรส พอดีคำ และปูอบสมุนไพร ปูงาดำ ส่วนปูตัวใหญ่ก็แปรรูปเป็นน้ำยาปู และแปรรูปเป็นผงปูนาแกงอ่อม ซึ่งมีส่วนผสมของเนื้อปูเต็มๆ เหมาะสำหรับคุณพ่อบ้านแม่บ้าน หรือสาวโรงงาน และผู้ใช้แรงงานที่เร่งรีบ เพียงแค่ฉีกซองต้มน้ำก็กินได้เลย หรือจะเติมผักเครื่องเคียงอื่นๆ ได้ตามอัธยาศัย ราคาเริ่มต้น เพียงแค่ 49 บาท

เพียงแค่ความคิดของลุงสังข์ ในช่วงเริ่มต้นเพื่อต้องการอนุรักษ์ปูนาที่เริ่มหดหายไปจากแปลงนาในท้องถิ่น จนกลายมาเป็นการสร้างฟาร์มปูนาโมเดล แหล่งเรียนรู้การเลี้ยงปูนาเลียนแบบธรรมชาติ ที่ตำบลเมืองลีง เป็นปราชญ์เกษตร ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้คนอื่นได้ต่อยอด

ผลิตภัณฑ์ปูนาต้ม นึ่ง สดๆ จากเมืองลีง พร้อมนำไปแปรรูปและปรุงทำอาหารต่อไป

ไม่เพียงฟาร์มปูนาโมเดลของลุงสังข์ที่ประสบความสำเร็จ ยังขยายสร้างเครือข่ายเผื่อแผ่ไปถึงสมาชิกเป็น “ธนาคารปูนา” เพื่อรับประกันซื้อปูนาของชาวบ้านที่เป็นเจ้าของแปลงนาและติดป้ายห้ามใครมาขุดปูในพื้นที่แปลงนาของตัวเองเพื่อการันตีแหล่งรับซื้อปูนาจากพื้นที่แหล่งอินทรีย์ และเป็นการป้องกันการนำปูนอกพื้นที่เข้ามาปะปนกับปูในท้องถิ่นเมืองลีง เพื่อสร้างความเป็นอัตลักษณ์ นั่นเอง

ลุงสังข์ บอกทิ้งท้ายว่า เราไม่มีพันธุ์ปูนาให้ขายเพราะที่มีอยู่ก็ยังไม่เพียงพอในการเพาะขยายพันธุ์ แต่ถ้าอยากอุดหนุนก็สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ปูนาที่แปรรูปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผงปูนาแกงอ่อมที่บรรจุซอง หรือปูนาทอดอบกรอบ 3 รส และอื่นๆ เป็นต้น โดยสามารถสั่งจองล่วงหน้าได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ : ฟาร์มปูนา ตำบลเมืองลีง หรือต้องการเข้าเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้การเพาะเลี้ยงปูนาเลียนแบบธรรมชาติ ณ ศูนย์เรียนรู้สหกรณ์การเกษตรเมืองลีงโมเดล โทรศัพท์หา “ลุงสังข์” ได้โดยตรงที่เบอร์ 093-368-4223 หรือติดต่อ ศูนย์เรียนรู้ปูนาเมืองลีง เลขที่ 46 หมู่ที่ 10 บ้านหนองขาม ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/fishery-technology/article_262373