ค้นหา

สวก.โชว์งานวิจัย “Palmo GEL” เจลสมานแผลในสัตว์ สารสกัดน้ำส้มควันไม้จากกะลาปาล์มฯ

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และบริษัท ไฟโตไบโอติกส์ (ประเทศไทย)
เข้าชม 251 ครั้ง

“Palmo GEL” เจลสมานแผลในสัตว์โดยเฉพาะผลิตจากสารสกัดน้ำส้มควันไม้จากกะลาปาล์มน้ำมัน ผลงานต่อยอดงานวิจัยของ สวก.สู่สินค้าที่ใช้วัตถุดิบเกษตรไทย 100% ราคาต่ำกว่าสินค้านำเข้าถึง 2 เท่า

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตรของประเทศ เพื่อพัฒนาการวิจัยการเกษตร พัฒนานักวิจัยการเกษตรมืออาชีพ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้นำผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ไปต่อยอดเชิงธุรกิจ ขับเคลื่อนวงการเกษตรไทยให้เจริญก้าวหน้าด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม  

นายภาสกร ปิยารัมย์ Regional Technical Manager บริษัท ไฟโตไบโอติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ได้รับรางวัลรางวัลผู้ประกอบการ สวก.ดีเด่นที่นำผลงานวิจัยด้านการเกษตรไปใช้ประโยชน์ ประจำปี 2566 กล่าวว่า บริษัท ไฟโตไบโอติกส์ (ประเทศไทย) เป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายสารเสริมธรรมชาติสำหรับสัตว์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศย่อมมีต้นทุนสูง และจำหน่ายในราคาค่อนข้างแพง ดังนั้นเราจึงต้องการที่จะใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศที่มีศักยภาพสามารถทดแทนวัตถุดิบนำเข้า เพื่อลดต้นทุนการผลิตจะได้ขายสินค้าในราคาที่ถูกลง ซึ่งผลงานวิจัยที่ สวก.ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยโครงการ “ไฮโดรเจลสมานแผลในสัตว์ของสารสกัดน้ำส้มควันไม้ที่ผลิตจากกะลาปาล์มน้ำมัน” ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี ดร.ยงยุทธ์ เทพรัตน์ เป็นหัวหน้าโครงการ สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผลการวิจัยพบว่าสารสกัดออกฤทธิ์ที่สำคัญในน้ำส้มควันไม้ที่ผลิตจากกะลาปาล์มน้ำมัน เป็นสารตั้งต้นที่มีศักยภาพ เพราะมีฤทธิ์ทางชีวภาพหลากหลาย สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่าเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบและสมานแผล สามารถพัฒนาเป็นเวชภัณฑ์ยาสมานแผลภายนอกสำหรับสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัท ไฟโตไบโอติกส์ (ประเทศไทย) มั่นใจเลือกผลงานวิจัยของ สวก.ชิ้นนี้มาพัฒนาต่อยอด เพราะเห็นถึงความมุ่งมั่นพัฒนาผลงานวิจัยของอาจารย์คณะผู้วิจัยที่ทำการศึกษาวิจัยเจาะลึกในระดับเดียวกับการวิจัยยารักษาคน ทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่เป็นของเหลือใช้จากการผลิตน้ำมันปาล์ม ช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันมีรายได้เพิ่ม สวัสดิภาพสัตว์ดีขึ้นเนื่องจากมียารักษาเฉพาะทาง นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศที่มีราคาแพง

โดยผลิตภัณฑ์ไฮโดรเจลสมานแผลที่เกิดจากงานวิจัยดังกล่าว ภายใต้แบรนด์ “พาลโมเจล (Palmo GEL)” ได้มีการจำหน่ายสู่ตลาดสถานพยาบาลสัตว์ โรงพยาบาลสัตว์ คลินิกรักษาสัตว์ เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ข้อดีของเจลสมานแผลที่ผลิตจากวัตถุดิบในประเทศคือมีต้นทุนถูกกว่าสินค้านำเข้าประมาณ 2 เท่า จากสินค้านำเข้าขายที่ราคาหลอดละประมาณ 500 บาทขึ้นไป แต่สินค้า พาลโมเจล ขายในราคาที่หลอดละ 200 กว่าบาท ปริมาณยอดขายปีละประมาณ 20,000 หลอด รายได้จากการจำหน่ายเฉลี่ย 3.6 ล้านบาทต่อปี สินค้าพาลโมเจล มีวัตถุดิบต้นทางคือสารสกัดน้ำส้มควันไม้จากกะลาปาล์มน้ำมัน ที่รับซื้อจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในจังหวัดกระบี่ ปริมาณการรับซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรต่อปี กากกะลาปาล์มน้ำมัน 500 กิโลกรัม คิดเทียบเท่าทลายปาล์มน้ำมัน 9,000 กิโลกรัม เราสามารถนำกากกะลาปาล์มน้ำมัน 100 กก. มาผลิตเจลได้ 1 กก. ซึ่งการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวก. ทำให้เกษตรกรต้นทางมีรายได้เพิ่มจากการนำวัตถุดิบต้นทางไปสกัดสารสำคัญ ที่มีมูลค่าหลักหมื่นบาทต่อกากกะลาปาล์ม 100 กก. รวมถึงรายได้ของโรงงานผลิตไฮโลเจล และผู้แทนจำหน่ายสินค้าภาคเอกชน ที่มีรายได้เป็นหลักแสนบาทต่อกากกะลาปาล์ม 100 กก. จากที่เคยให้ผู้นำไปผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลมารับฟรีๆ หรือมีรายได้แค่เฉพาะค่าขนส่งเท่านั้น 

นายภาสกร กล่าวด้วยว่า บริษัทฯ มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจ พาลโมเจน ให้ยั่งยืนต่อไป โดยจะทำให้สินค้าได้รับการยอมรับเพิ่มเติมจากงานวิจัยด้านสัตวแพทย์ จะนำสินค้าเข้าสู่งานวิจัยในตัวสัตว์เพิ่มเติมกับอาจารย์มหาวิทยาลัย รวมถึงเข้าร่วมงานสัมมนาทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมกับกำลังพัฒนารูปแบบยาจากเจลทาแผล เป็นรูปแบบอื่นๆ เช่น สเปรย์เพื่อสมานแผล เพื่อขยายการใช้งานสินค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นและสะดวกต่อผู้ใช้งาน โดยผลตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายถ้าเปรียบเทียบในเชิงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศถือว่าค่อนข้างดี แม้ว่ายอดขายยังไม่ได้สูงมากนักเนื่องจากในระยะแรกเราตั้งเป้าเจาะกลุ่มโรงพยาบาลสัตว์ คลินิกรักษาสัตว์ เพราะต้องการให้หมอมีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของไทยที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศ จากนั้นจึงจะขยายผลไปวางจำหน่ายในร้านจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์ (เพ็ทช็อป) ต่อไปในอนาคต

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.siamrath.co.th/n/493551