ค้นหา

สร้างเครือข่ายผลิตมันสำปะหลัง “อินทรีย์”

เข้าชม 360 ครั้ง

จังหวัดอุบลราชธานีได้ดำเนินการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์และเกษตรกรในพื้นที่ได้เข้าร่วมโครงการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ เมื่อปี ๒๕๕๙ โดยทำ Contract Farming กับบริษัทอุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นการยกระดับการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์อย่างยั่งยืนให้เกษตรกร และได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการสำคัญภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด ซึ่งเป็นการดำเนินงานควบคู่กับโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ที่ไม่ใช่เพียงการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการ แต่เป็นการต่อยอดไปสู่มันสำปะหลังอินทรีย์ สร้างระบบการผลิตที่ยั่งยืน นำไปสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และสร้างรายได้สูงให้เกษตรกร

นางประเทือง วาจรัต ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ ๑๑ จังหวัดอุบลราชธานี (สศท.๑๑) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ของ สศท.๑๑ เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา พบว่า จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ ๑๓,๗๐๔ ไร่ ผลผลผลิตรวม ๔๖,๐๘๖ ตัน/ปี (เฉลี่ย ๔๖ ล้าน กก./ปี) ซึ่งจังหวัดได้ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ ๔ และบริษัทอุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) เดินหน้าสร้างเครือข่ายผู้ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ ในกลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง ๒ อย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร และอำนาจเจริญ โดยในปี ๒๕๖๖ มีเกษตรกรทั้ง ๓ จังหวัด ที่เข้าร่วมโครงการ ๗๐๐ ราย (อุบลราชธานี ๖๐๐ ราย ยโสธร ๖๐ ราย และอำนาจเจริญ ๔๐ ราย) พื้นที่ปลูกรวม ๑๔,๐๔๘ ไร่ (อุบลราชธานี ๑๓,๗๐๔ ไร่ ยโสธร ๒๔๐ ไร่ และอำนาจเจริญ ๑๐๔ ไร่) โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี เป็นหน่วยงานกำกับดูแล

นอกจากนี้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ ๔ ลงพื้นที่ให้ความรู้เกษตรกร เรื่องกระบวนการผลิต การป้องกันโรคแมลง การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิต และการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ ผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ผ่านมาตรฐานอินทรีย์ไทย และมาตรฐานอินทรีย์สากล ได้แก่ ๑. มาตรฐาน มกษ ๙๐๐๐-๒๕๕๒ หรือ Organic Thailand ๒. มาตรฐานอินทรีย์ USDA-NOP (สหรัฐอเมริกา) ๓. มาตรฐานอินทรีย์ EU (ยุโรป) ๔. มาตรฐานอินทรีย์ JAS (ญี่ปุ่น) ๕. มาตรฐานอินทรีย์ Korean (เกาหลี) และ ๖. มาตรฐานอินทรีย์ China (จีน) เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีที่เข้าร่วมโครงการ มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย ๖,๗๖๘ บาท/ไร่/ปี มีค่าจ้างแรงงานคนในการกำจัดวัชพืช จึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่ามันสำปะหลังทั่วไป เกษตรกรปลูกช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวโดยเฉลี่ย ๑ ปี (๑๑ – ๑๒ เดือน) เก็บเกี่ยวช่วงเดือนมีนาคมของปีถัดไป ผลผลิตเฉลี่ย ๓,๓๖๓ กิโลกรัม/ไร่/ปี บริษัทรับซื้อผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์จากเกษตรกรทั้งหมดในราคาประกันมันสำปะหลังอินทรีย์เชื้อแป้ง ๒๕ % อยู่ที่ ๓.๔๕ บาท/กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่ามันสำปะหลังทั่วไปที่มีราคา ๒.๘๐ บาท/กิโลกรัม (ต่างกัน ๐.๖๕ บาท/กิโลกรัม) เกษตรกรได้ผลตอบแทน ๙,๔๑๖ บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) ๒,๖๔๘ บาท/ไร่/ปี ซึ่งขณะนี้ เกษตรกรอยู่ระหว่างรอการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่จะออกในช่วงมกราคม – มีนาคม ๒๕๖๗

“จังหวัดอุบลราชธานีและภาคี จะยังคงเดินหน้าสร้างเครือข่ายผู้ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการยกระดับการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์อย่างยั่งยืนให้เกษตรกร โดยบริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มกว่า ๕๐% หรือประมาณ ๓๐,๐๐๐ ไร่ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรมีการวางแผนทำการเกษตรอินทรีย์ที่หลากหลาย อาทิ ปลูกสมุนไพร ถั่วต่าง ๆ หรือหันมาปลูกเพื่อจำหน่ายท่อนพันธุ์ เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบยั่งยืนที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดมันสำปะหลังอินทรีย์ หรือสนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสอบถามได้ที่ คุณกัณฑ์พร กรรณสูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายประสานงานภาครัฐ บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) โทร. ๐๘ ๙๙๖๒ ๖๕๔๔” ผู้อำนวยการ สศท.๑ กล่าว.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.pds-news.com/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94/584cf9eb686821001adff25f/%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E2%80%9C%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E2%80%9D/651e1768f3064b001397add5