ค้นหา

ทุเรียนถ่านหินเมืองหอยใหญ่

ณที นุ่นมา ประธานแปลงใหญ่ทุเรียนถิ่นถ่านหิน
เข้าชม 244 ครั้ง

พื้นที่ อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี เดิมเป็นเหมืองขุดถ่านหิน มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ปัจจุบันการทำเหมืองยกเลิกไปเกือบร้อยปีที่แล้ว กลายสภาพเป็นที่สงวน เพื่ออนุรักษ์ให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้

ทุเรียนเคียนซา กำลังจะเข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เมื่อหน่วยงานสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอยื่นจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือจีไอ ให้กับทุเรียนเคียนซา ในนาม “ทุเรียนหมอนทองถิ่นถ่านหิน@เคียนซา หรือ ทุเรียนถ่านหิน”

ณที นุ่นมา ประธานแปลงใหญ่ทุเรียนถิ่นถ่านหิน ให้ข้อมูล เดิมคนที่นี่ปลูกทุเรียนกันแบบตัวใครตัวมัน ส่งแต่ล้งทำให้ได้ราคาไม่ค่อยดี สำนักงานเกษตรอำเภอเคียนซา กรมส่งเสริมการเกษตรก็เข้ามาส่งเสริมให้สมาชิกทั้ง 67 ราย พื้นที่รวมเกือบ 800 ไร่ รวมตัวกันเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนถิ่นถ่านหิน ต.พ่วงนคร อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี

พร้อมกับเปลี่ยนแปลงแนวทางปลูกหลายอย่าง ตั้งแต่การใช้ชีวภัณฑ์ ลดการใช้สารเคมี ทำปุ๋ยจากเศษกิ่งใบทุเรียนเหลือทิ้ง ไปจนถึงเก็บผลผลิตที่แก่

ด้วยเพราะมีแร่ธาตุในดินมาก โดยเฉพาะถ่านหิน ที่มีธาตุซัลเฟอร์ หรือกำมะถันปะปน เลยทำให้ทุเรียนที่นี่ต่างจากที่อื่น อันกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว

เปลือกบาง หนามแหลมเป็นรูปพีระมิด เนื้อแห้งละเอียด สีเหลืองอ่อน รสชาติมันนำหวาน รสออกไปทางหวานละมุนความหวาน 12 องศาบริกซ์ กลิ่นไม่ฉุน และกลิ่นจะออกมาเต็มที่เมื่อเวลาสัมผัสลิ้น เนื้อเต็ม เม็ดเล็ก

สำนักงานเกษตรอำเภอเคียนซา ภายใต้กรมส่งเสริมการเกษตร จึงร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ดันทุเรียนเคียนซาขึ้นเป็นอีกหนึ่งสินค้าจีไอของจังหวัดพร้อมกับออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้ได้มาตรฐาน ภายใต้สโลแกน “ทุเรียนถิ่นถ่านหิน ดินแดนเคียนซา หวาน มัน หอม อร่อย”.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/2712392