ค้นหา

แก้ท่วมแล้งเชียงใหม่-ลำพูน ดันขุมเหมืองแหล่งน้ำต้นทุน

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
เข้าชม 227 ครั้ง

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการ เพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) เชียงใหม่-ลำพูน ว่า การศึกษาครอบคลุมพื้นที่ 138 ตำบล 19 อำเภอ และพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาที่เกี่ยวเนื่อง

“ผลการศึกษาสามารถจัดทำแผนงานหลักของหน่วยงานต่างๆทั้งหมด 7,090 โครงการ สามารถแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำ 5 ด้าน 1.ด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 1,430 โครงการ 2.ด้านการสร้างความมั่นคงของภาคการผลิต 3,996 โครงการ 3.ด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 1,219 โครงการ 4.ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ 259 โครงการ และ 5.ด้านการบริหารจัดการ 186 โครงการ”

เลขาธิการ สทนช. เผยอีกว่า หากการดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ประชาชนมีแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ได้มาตรฐานและเพียงพอ พัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 951 ล้าน ลบ.ม. แก้ปัญหาภัยแล้งครอบคลุมพื้นที่ 3,840,101 ไร่ นอกจากนี้ ยังเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ จัดการพื้นที่น้ำท่วมและบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้ 1,721,775 ไร่ ควบคู่กับการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย อนุรักษ์ฟื้นฟูแม่น้ำลำคลอง ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม ลดการชะล้างพังทลายของดิน จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม พัฒนาระบบตรวจวัดระบบฐานข้อมูล แต่งตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำและมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

“การลงพื้นที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน พบว่า มีขุมเหมืองแร่ที่ไม่ได้ดำเนินการแล้ว 11 ขุมเหมือง การสำรวจและเก็บตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์คุณภาพน้ำ สามารถนำน้ำจากขุมเหมืองมาใช้ประโยชน์เพื่อบรรเทาปัญหาในภาคการเกษตรได้ นับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเดิมให้กลับมาใช้ประโยชน์เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อสนับสนุนการทำเกษตร โดยกำหนดให้เป็น 1 ใน 6 โครงการเร่งด่วน คาดว่าจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานแก้ปัญหาภัยแล้ง ในการปลูกพืชเศรษฐกิจของเกษตรกรในจังหวัดลำพูนได้ประมาณ 7,482 ไร่ ที่มีความต้องการใช้น้ำ ประมาณปีละ 9.32 ล้าน ลบ.ม. และเหมืองแบบนี้จะเป็นต้นแบบเพื่อขยายไปในพื้นที่เหมืองร้างอื่นๆ แต่สิ่งแรกที่ต้องทำคือ จะต้องมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำก่อน หากเหมืองไหนคุณภาพน้ำเกินค่ามาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นค่ามาตรฐานเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือเพื่อการเกษตร แต่ถ้าเกินมาตรฐานเพื่อการเกษตร จะไม่ไปพัฒนานำมาเพื่อการเกษตร” ดร.สุรสีห์ กล่าว.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/north/2712068