ค้นหา

วิถีเกษตรอินทรีย์ ใช้แหนแดงปุ๋ยธรรมชาติในนาข้าว ช่วยเกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยยูเรีย

กรมส่งเสริมการเกษตร
เข้าชม 313 ครั้ง

แหนแดง พืชที่เลี้ยงง่ายขยายพันธุ์ได้เร็ว เมื่อนำไปหว่านในนาข้าวระหว่างเตรียมการเพาะปลูกแล้วไถกลบ หรือหว่านระหว่างปลูกข้าว จะช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้กับดินปลูก สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้เกษตรกรลดค่าปุ๋ย ประหยัดค่าใช้จ่ายได้

ปัญหาหนักใจสำหรับเกษตรกรผู้เพาะปลูก คือ ต้นทุนการทำเกษตรที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่าปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชต่างๆ สวนทางกับราคาผลผลิตที่ไม่ได้ปรับขึ้นตาม แถมยังตกต่ำลงไปตามช่วงฤดูกาล กลายเป็นผลผลิตไม่ได้ราคา แต่ใช้เงินลงทุนปลูกต่อไร่สูง

การทำเกษตรอินทรีย์และปลูกพืชผสมผสาน จึงเป็นทางออกที่เกษตรกรในหลายแห่งเลือกที่จะเริ่มทำ และปรับใช้กับสวนและไร่นาของตัวเอง ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการให้ความรู้และคำแนะนำแก่เกษตรกรเกี่ยวกับเทคโนโลยีปุ๋ยชีวภาพ ที่จะมาช่วยลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง ด้วยการทำปุ๋ยหมักเองจากซากพืช ซากสัตว์ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นปุ๋ยหมักเติมอากาศที่มาจากการผสมรวมกันระหว่างวัสดุอินทรีย์ที่ให้คาร์บอนและไนโตรเจน 

แต่นอกจากปุ๋ยหมักแลัว ยังมีปุ๋ยพืชสด ที่เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถได้จากการไถกลบซากพืชที่เหลือจากการเพาะปลูก ทำให้ได้ปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์ เมื่อย่อยสลายสมบูรณ์แล้ว ธาตุอาหารจะอยู่ในรูปที่พร้อมปลดปล่อยให้ต้นพืชได้ทันที เช่นเดียวกับปุ๋ยเคมี

แหนแดง ที่ใช้กันมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ 1.สายพันธุ์ อะซอลล่า พินนาต้า (Azolla Pinnata) และ 2. (Azolla Microphylla) มีจุดเด่น คือ เป็นพืชที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ได้เร็ว เกษตรกรสามารถใช้แหนแดงผสมกับดินปลูก เพื่อเป็นแหล่งแร่ธาตุอาหารไนโตรเจนทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี หรือใช้แหนแดงสดหรือแห้งผสมอาหารสัตว์ ก็จะได้อาหารสัตว์ที่มีคุณภาพดี 

รูปแบบการเพาะเลี้ยง

1. การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ 

1.1 ใช้บ่อปูนเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 ซม. ใส่ฝาปิดที่ก้นบ่อ เจาะรูให้สูงจากก้นบ่อ 10 ซม. เพื่อควบคุมระดับน้ำ 

1.2 ใส่ดินนารองก้นบ่อให้สูงเท่ากับรูที่เจาะไว้ เติมปุ๋ยคอกลงไป 1 กก. เติมน้ำให้สูงจากระดับผิวดิน 10 ซม. 

1.3 ใส่แม่พันธุ์แหนแดง 50 กรัม แล้วใช้มือกระจายไปให้ทั่วบ่อ

1.4 เมื่อแหนแดงเจริญเติบโตเต็มบ่อ นำแหนแดงที่ได้ไปขยายพันธุ์ต่อได้   

2. การเลี้ยงในบ่อขุด 

2.1 เนื่องจากแหนแดงไม่ต้องการน้ำมาก จึงขุดบ่อให้ลึก 5-10 ซม. และควรกางตาข่ายพรางแสง หรือมีร่มไม้รำไร

2.2 ใส่แม่พันธุ์แหนแดงลงในบ่อที่เตรียมไว้ ใช้เวลา 10-15 วัน เมื่อแหนแดงเจริญเติบโตเต็มบ่อ สามารถนำแหนแดงไปขยายต่อในพื้นที่ต้องการได้

กรมวิชาการเกษตร แนะนำให้ใช้แหนแดงในการปลูกข้าวเป็นปุ๋ยพืชสด โดยนำแหนแดงลงในนาข้าว อัตรา 200-300 กก./ไร่ ทิ้งระยะเวลา 1 เดือน ขยายเป็น 3,000 กก. และเมื่อไถกลบแหนแดง จะได้ไนโตรเจน 6-7.5 กก./ไร่ จากนั้นก็ปลูกข้าวตามปกติ เกษตรกรจะลดค่าใช้จ่ายจากปุ๋ยยูเรียได้ถึง 13-16 กก. แต่ก็ทำให้ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน อีกวิธีที่มีการแนะนำ คือ การใช้แหนแดง หว่านลงนาระหว่างที่ปลูกข้าวด้วยอัตรา 10 กก.ต่อไร่ ข้าวจะได้รับไนโตรเจนจากแหนแดงในฤดูการปลูกถัดไป

หากเกษตรกรสนใจ อยากทดลองปลูกแหนแดง สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูล หรือขอรับพันธุ์แหนแดงได้ที่ จุดบริการพืชพันธุ์ดี ศูนย์ขยายพันธุ์พืช ทั้ง 10 แห่ง ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช กรมส่งเสริมการเกษตร และ กรมวิชาการเกษตร

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2709299