ค้นหา

แปลงใหญ่จิ้งหรีด ต.บ้านหัน เดินหน้ายกระดับการผลิตสู่มาตรฐาน GAP

นายประธง หวานเพลิน
เข้าชม 195 ครั้ง

ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นการดำเนินงานซึ่งเน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ โดยเน้นการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามนโยบายการตลาดนำการผลิตนำไปสู่การจัดการสินค้าเกษตรกรได้อย่างมั่นคงในอนาคต 

ชุมชนตำบลบ้านหัน อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นอาชีพหลัก ข้อจำกัดหรือปัญหาในการประกอบอาชีพ คือ มีที่ดินทำกินน้อย ที่ดินทำกินกับที่พักอาศัยอยู่ไกลกันมาก เกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุมาก ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจกรรมที่ทำอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถสร้างรายได้ที่แน่นอน หรือ ไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับตนเองและครอบครัวได้ เกษตรกรในตำบลบ้านหัน อำเภอโนนศิลา จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบอาชีพทางการเกษตรเพื่อให้เหมาะสมกับข้อจำกัดของแต่ละบุคคลและสภาวการณ์ปัจจุบัน ปี 2559 ชุมชนบ้านหนองไฮ หมู่ 11 ตำบลบ้านหัน อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่นจำนวนหนึ่ง ได้ริเริ่มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อบริโภคและจำหน่าย เป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาข้อจำกัดอย่างได้ผล คือ การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด ใช้พื้นที่น้อย ใช้แรงงานน้อย สามารถดำเนินการได้ภายในครัวเรือน และเกษตรกรที่มีอายุมากสามารถทำได้ ส่งผลให้ครอบครัวมีความพอเพียงด้านอาหารไม่ขาดแคลน อีกทั้งยังก่อให้เกิดอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว ประกอบกับมีการเก็บข้อมูลบันทึก ต้นทุน รายได้ รายจ่าย และกำไร จึงเห็นเป็นช่องทางอาชีพ จึงชักชวนเกษตรกรรายอื่นที่สนใจร่วมเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาชีพสืบมาจากเดิมที่มีการรวมกลุ่มกันแบบธรรมชาติ

จนกระทั่ง ปี 2562 จึงได้มีการรวมกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงจิ้งหรีด ขอจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ ชื่อแปลงใหญ่ทั่วไป (จิ้งหรีด) หมู่ 11 ตำบลบ้านหัน อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น มีสมาชิก จำนวน 33 ราย จาก 5 หมู่ บ้านในตำบลบ้านหัน อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น ได้แก่ หมู่ 1บ้านหัน หมู่ 6 บ้านหนองขี้เห็น หมู่ 9 บ้านหนองน้ำขุ่นใต้ หมู่ 11บ้านหนองไฮ และ หมู่ 16 บ้านหนองน้ำขุ่นเหนือ  ปี พ.ศ. 2565 สมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 3 ราย จาก 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ 3 บ้านหนองไฮ และ หมู่ 10 บ้านหนองแวง รวมเป็น 7 หมู่บ้าน ในปัจจุบัน การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในชุมชนตำบลบ้านหัน อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น ได้ขยายวงกว้างมากขึ้น มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่รู้จักของพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อจิ้งหรีดถึงชุมชน และกลุ่มมีการรวมจำหน่ายผลผลิตร่วมกัน มีเกษตรกรรุ่นใหม่ในกลุ่มเป็นผู้จัดการแปลงใหญ่ ในการจัดทำแผนการผลิตและการตลาด

ผลลัพธ์ที่เกิดจาการดำเนินงาน 5 ด้าน

1.การลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรสามารถการผลิตลงร้อยละ 23   โดยใช้พืชพื้นถิ่นร่วมกับอาหารสำเร็จรูป เพื่อลดปริมาณอาหารสำเร็จรูป และมีการรวมกลุ่มกันซื้อปัจจัยการผลิต 
2.การเพิ่มผลผลิต เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ได้ร้อยละ 35 โดยการใช้สูตรอาหารที่เหมาะสมในการเลี้ยงจิ้งหรีด การดูแลรักษาและระบบจัดการในการเลี้ยงจิ้งหรีดอย่างเหมาะสม 
3.การพัฒนาคุณภาพสินค้า เกษตรกรอยู่ระหว่างการรับรองมาตรฐาน GAP ฟาร์ม จำนวน 4 ราย  ซึ่งเกษตรกรมีการตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ และ การปฏิบัติตามขั้นตอนมาตรฐานฟาร์ม GAP จิ้งหรีด
4.การบริหารจัดการ มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกลุ่ม ระดมทุน รวมซื้อปัจจัยการผลิต และรวมกลุ่มจำหน่ายผลผลิต มี YSF เป็นสมาชิกกลุ่ม ช่วยวางแผนการผลิตและการตลาด และมีการแบ่งผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
5.การเชื่อมโยงตลาด มีการเชื่อโยงตลาด จำหน่ายผลผลิตจิ้งหรีดให้กับกลุ่มแปลงใหญ่ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น มีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น 

ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจาการดำเนินงานโครงการ
1.ด้านพื้นที่ จากเดิมที่เกษตรกรทำการเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และข้าว  เกษตรกรหันมาเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นรายได้เสริมจนเกิดเป็นรายได้หลัก พื้นที่รอบๆ 
2.ด้านคน เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากมีรายได้เพิ่มขึ้น ชุมชน และสังคม สงบสุข เนื่องจากคนในชุมชนมีรายได้
3.ด้านสินค้า สินค้ามีการพัฒนา เกษตรกรมีความรู้เนื่องจากมีหน่วยงานภาคีมาช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนา เกษตรกรมีการเรียนรู้ร่วมกัน

หน่วยงานภาคีที่เข้าไปส่งเสริมสนับสนุน 
1.สำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่นและสำนักงานเกษตรอำเภอโนนศิลา โครงการยกระดับแปลงด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาเกษตรแบบแปลงใหญ่ 
2.สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น อบรมโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพทางการเกษตรหลักสูตรการอบรมทำแผนขับเคลื่อนกลุ่มจิ้งหรีดแปลงใหญ่
3.ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาชีพการเกษตรขอนแก่น อบรมเรื่องการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อการค้า
4.สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น เรื่องความรู้และการตรวจรับรองมาตรฐานฟาร์ม GAP จิ้งหรีด
5.สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ เรื่อจัดทำบัญชีต้นทุนฟาร์ม และบัญชีครัวเรือน
6.สำนักงานสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรขอนแก่น และสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น สนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยแห่งชาติ เรื่องฟาร์มจิ้งหรีดปลอดโรคไวรัส 
7.สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สยปพ.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อนำข้อมูลไปศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจน

นายประธง หวานเพลิน ประธานแปลงใหญ่ทั่วไป (จิ้งหรีด) หมู่ 11 ต.บ้านหัน อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดเมื่อปี พ.ศ 2560 การเลี้ยงแรกๆจากที่ภรรยาเป็นแม่ค้าอยู่แล้วก็เลยมีการไปรับซื้อจิ้งหรีดจากสมาชิกไปรับมาโลละ 100 บาท เรามาคั่วขายที่ตลาดมันก็ได้ถึง 200 เลยได้กำไรกิโลกรัมละ 100 บาท เริ่มศึกษาจากกลุ่มที่เลี้ยงเรื่อยมา และมีการจัดตั้งกลุ่มเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ ในปี 2562 สมาชิก 33 ราย และจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนในปี 2563  ทางด้านของเกษตรอำเภอได้เข้ามาแนะนำทางกลุ่มเราเลี้ยงจิ้งหรีดเยอะขึ้น ทำกิจกรรมเรื่อยมา ต่อมาในปี 2564 ได้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด งบประมาณสนับสนุนเป็นเงิน 3 ล้านบาท  มาจัดสร้างอาคารโรงเลี้ยงจิ้งหรีดที่ได้มาตรฐาน จำนวน 3 หลัง  เพื่อให้ผลผลิตได้รับรองมาตรฐาน GAP เครื่องอบแผงไข่เพื่อลดต้นทุนและแรงงานในการตากทำความสะอาดแผงไข่ และตู้แช่เพื่อรวบรวมผลผลิตจำหน่ายแบบแช่แข็งเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า ทั้งนี้สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นหน่วยงานที่ช่วยผลักดันเชื่อมโยงประสานทำให้กลุ่มเกิดการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอบรมความรู้กรบวะการผลิต การแปรสภาพจากตัวสดมาเป็นต้มแช่แข็ง ฟิต เพื่อที่จะเป็นการเก็บจิ้งหรีดในช่วงที่ผลผลิตมีปริมาณมาก 

นายธงชัย มูลคำศรี เกษตรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป้าหมายหลักคือ การรวมกลุ่มบริหารจัดการสินค้าเกษตร เพื่อการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้า เชื่อมโยงการตลาด สำหรับสินค้าจิ้งหรีด เป็นสินค้าที่มีผลตอบแทนต่อหน่วยสูง ใช้น้ำและพื้นที่ในการผลิตน้อย ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด และคาดว่าจะมีต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก FAO ประกาศให้แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก แต่ก็ยังประสบปัญหาในกระบวนการผลผลิต จังหวัดขอนแก่น มีกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีด ทั้งสิ้น จำนวน 8 กลุ่ม สมาชิกกว่า 240 ราย ปัจจุบันประสบปัญหาสถานการณ์อาหารจิ้งหรีดปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง และเกิดการระบาดของโรคไวรัสในจิ้งหรีด ทำให้ผลผลิตลดลง เกษตรกรผู้เลี้ยงลดจำนวนลง โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น เป็นหน่วยงานที่บทบาทส่งเสริมให้เกษตรกรมีการผลิตสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจิ้งหรีด เน้นแนวทางการลดต้นทุนการผลิต การผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด การเชื่อมโยงการผลิตและการตลาด มีการบูรณาการการดำเนินงานกับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรระดับจังหวัด จังหวัดขอนแก่น และจุดแข็งของจังหวัดขอนแก่น คือมีหน่วยงานภาคการศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ที่มีการศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซอุปทาน มีผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตแมลงเศรษฐกิจ อีกทั้งมีการศึกษาวิจัยฟาร์มจิ้งหรีดปลอดโรคจากเชื้อไวรัส เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีการเกษตรขอนแก่น และสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น ซึ่งผลจากการขับเคลื่อนงานของหลายภาคส่วน โดยมีหน่วยงานเป็นตัวเชื่อมประสาน จะส่งผลให้เกิดแนวทางเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://siamrath.co.th/n/454300