ค้นหา

แปลงนาอัจฉริยะ สนับสนุนการลดต้นทุนสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมา
เข้าชม 270 ครั้ง

โครงการสนับการลดต้นทุนสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพการเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มั่นคงและยั่งยืน แปลงนาอัจฉริยะสามารถช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสามารถควบคุมคุณภาพของข้าวได้ เนื่องจากภายใต้โครงการลดต้นทุนการผลิตได้มีการทำแปลงนาอัจฉริยะ ซึ่งมีการปรับแปลงนาด้วยเลเซอร์ ทำให้แปลงนาราบเรียบ ง่ายต่อการบริหารจัดการน้ำในแปลงนาสามารถควบคุมวัชพืชได้และยังทำให้ข้าวไม่เสียหายจากการขาดน้ำน้ำไปไม่ถึงหรือน้ำท่วมข้าวเนื่องจากแปลงนาไม่ราบเรียบ

นายอิสระพงศ์ บุตรจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมา (ศวข.นครราชสีมา) เปิดเผยว่าทางศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมาได้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการต่างๆเพื่อให้เกษตรกรได้เข้าถึงโครงการของกรมการข้าวและมีการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการสร้างความรับรู้ตระหนักรู้เพื่อให้เกษตรกรได้รู้ถึงกรรมวิธีต่างๆในการเพิ่มผลผลิตข้าวเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและการปลูกข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายพิษณุ หินตั้ง นักวิชาการเกษตรชำนาญการ เปิดเผยว่าโครงการต่างๆที่มีส่วนช่วยในการสนับสนุนการลดต้นทุน ได้ถูกนำไปเผยแพร่ผ่านทางศูนย์ข้าวชุมชนโดยนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ในโครงการแปลงเกษตรอัจฉริยะ 1 อำเภอ 1 แปลง โดยนำเอาเทคโนโลยีมาลงใช้ปฏิบัติจริงในแปลงของกลุ่มสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชนที่ทางศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมาได้สนับสนุนดูแล ตั้งแต่การเริ่มเตรียมดินไปจนถึงการกำจัดวัชพืช เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิต เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้ปรับพื้นที่แปลงนาด้วยเลเซอร์ทำให้แปลงนาราบเรียบทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้ดี ควบคุมระดับน้ำได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งฤดูกาลเพาะปลูก ส่งผลให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นและประหยัดต้นทุนในการผลิต

นางกำไล ระวังโค เกษตรกรบ้านโนนกระสังหมู่ที่ 6 ตำบลกระเบื้องใหญ่อำเภอพิมายจังหวัดนครราชสีมา เล่าว่า การทำการเกษตรหรือการปลูกข้าวที่ผ่านมาเป็นการทำการเกษตรแบบบ้านๆ ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นการปลูกข้าวแบบที่ต้องลงทุนเยอะมีต้นทุนในการผลิตสูง ส่งผลให้หลังเก็บเกี่ยวเหลือกำไรไม่เยอะ ณ ปัจจุบันทางศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมาจึงได้เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มและเกิดการลดต้นทุนในการผลิต นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีต่างๆเทคโนโลยีใหม่ๆที่ทันสมัย ทำให้การทำนาของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวง่ายขึ้น จากเดิมการปรับพื้นที่นาต้องใช้การปรับด้วยสายตาและต้องใช้ระดับน้ำในการปรับพื้นนาให้ราบเรียบ ต้องมีการไถให้พื้นนาให้เกิดเป็นดินเลน จึงจะสามารถทำการปรับพื้นนาได้โดยการดันดินเลนให้พื้นนาเกิดความราบเรียบ ซึ่งใช้เวลานานและยุ่งยากกว่าการปรับพื้นนาด้วยเลเซอร์ ด้วยเหตุนี้โครงการแปลงเกษตรอัจฉริยะ 1 อำเภอ 1 แปลงจึงมีความสำคัญในการช่วยลดต้นทุนในการผลิตให้กับเกษตรกรและทำให้เกษตรกรมีผลผลิตในการเก็บเกี่ยวที่มากขึ้น

จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราชเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหรือชาวนาส่วนใหญ่ทำนาปี เนื่องจากคลองส่งน้ำหรือระบบชลประทานยังไม่ครอบคลุมดังเช่นเกษตรกรในภาคกลาง จึงประสบปัญหาน้ำท่วมแปลงนาและปัญหาน้ำแล้ง แปลงนาข้าวจึงได้รับความเสียหาย บริเวณที่ดอนจะทำให้ข้าวเสียหายหรือข้าวอาจตายเนื่องจากขาดน้ำ ในพื้นที่ราบลุ่มข้าวเสียหายเช่นกันเนื่องจากน้ำท่วมข้าว ทางกรมการข้าวจึงได้ริเริ่มโครงการแปลงเกษตรอัจฉริยะ 1 อำเภอ 1 แปลง ภายใต้โครงการสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิต โดยทางศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมาได้เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนและแก้ไขปัญหาสำหรับเกษตรกรที่ประสบปัญหาแปลงนาไม่ราบเรียบ โดยการนำเครื่องปรับแปลงนาด้วยเลเซอร์มาสนับสนุนเกษตรกร นอกจากนี้ทางศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมายังมีการถ่ายทอดความรู้เรื่องการลดต้นทุนผ่านทางศูนย์ข้าวชุมชนและกลุ่มแปลงใหญ่ ปัจจุบันการผลิตสินค้าทางการเกษตรมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถนำมาใช้ในไร่นาได้ผลดีและส่งผลให้การผลิตในภาพรวมของประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ แนวทางเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะชุดนี้ มี 6 ประเด็นสำคัญ ตั้งแต่ 1.การเตรียมดิน โดยใช้เครื่องปรับดินเลเซอร์เพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง ปรับระดับผิวดินให้เรียบ สม่ำเสมอ 2.การจัดระบบน้ำ ใช้ท่อวัดน้ำอัจฉริยะ แสดงผลปริมาณระดับน้ำทุกชั่วโมงผ่าน Line Application บนมือถือของเกษตรกร โดยใช้ Solar Cell เป็นแหล่งให้พลังงาน เมื่อน้ำต่ำกว่าระดับผิวดิน จึงจะปล่อยน้ำเข้าแปลงนา สามารถลดปริมาณการให้น้ำได้ 46% 3.การติดตามสภาพแวดล้อม สถานีตรวจวัดอากาศ เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ต่างๆ แบบ real time เข้าระบบ IOT 4.การจัดการปุ๋ย ด้วยเครื่องวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในใบพืช เพื่อเป็นการให้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพตามความต้องการของข้าว 5.การอารักขาพืช โดยการใช้โดรนติดกล้องถ่ายภาพบินตรวจการทำลายของโรค และแมลง รวมทั้งข้าวปนและวัชพืชในนาข้าว และ 6. มีระบบช่วยตัดสินใจด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถส่งข้อมูลไปยังมือถือเกษตรกร ได้ตลอดเวลา ครอบคลุมรัศมี 2 กม. หรือประมาณ 1 หมื่นไร่เศษ ทั้งนี้โครงการสนับสนุนการลดต้นทุนในการผลิตสามารถช่วยลดต้นทุนสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้อย่างยั่งยืน

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://siamrath.co.th/n/451376