ค้นหา

แปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ 12 ตำบลละลาย อำเภอกันทรลักษ์ มุ่งหน้าสู่พัฒนาคุณภาพทุเรียน

นายถวิล สมสุข
เข้าชม 257 ครั้ง

ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นการดำเนินงานซึ่งเน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเน้นการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามนโยบายการตลาดนำการผลิต นำไปสู่การจัดการสินค้าเกษตรได้อย่างมั่นคงในอนาคต 

กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ 12 ตำบลละลาย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์ในการรวมกลุ่มผู้ปลูกทุเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง เพื่อรวบรวมผลผลิตจำหน่ายมีอำนาจในการต่อรองราคาทุเรียน รวมทั้งเพื่อต่อรองราคาปุ๋ย ราคาสารเคมี และราคาทุเรียนในพื้นที่ มีสมาชิก จำนวน 51 ราย ประกอบด้วยเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่หมู่บ้าน 5 หมู่บ้าน  ที่ประกอบไปด้วย บ้านโคกเจริญ บ้านโคกสมบูรณ์ บ้านโคกเจริญใหม่ บ้านโคกแกแล บ้านโคกพัฒนา พื้นที่ ประมาณ 620 ไร่ 

นายถวิล สมสุข รองประธานแปลงใหญ่ 5 บ้านโคก ตำบลละลาย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีษะเกษ กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพทุเรียน การให้สารอาหาร และฮอร์โมนต่าง ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องให้กับทุเรียนของเรา ซึ่งต้องให้ตามระยะการเจริญเติบโตของทุเรียนในแต่ละช่วงอายุ ระยะฟื้นต้น ต้องใช้ปุ๋ยอีกสูตรหนึ่ง ส่วนช่วงทำใบสะสมอาหารต้องเป็นอีกสูตรหนึ่ง การทำดอก ทำลูกเป็นอีกสูตรหนึ่ง แล้วถ้าอยากได้ทุเรียนคุณภาพตอนเขาจะสร้างเนื้อต้องให้สารอาหารเต็มที่ เมื่อเราได้ดอกแล้ว ได้ลูกแล้วพยายามรักษาให้ได้เพราะทุเรียนลูกหนึ่งสร้างมูลค่าได้เยอะมากๆ ต้องให้สารอาหาร ดูแลรักษาฉีดพ่นสารฆ่าแมลง และให้น้ำที่เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโตเพื่อให้ได้ทุเรียนคุณภาพ หน่วยงานราชการที่มาส่งเสริม ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานเขตอำเภอกันทรลักษ์ เป็นต้น

ด้านนายวิชัย ศรีโพธ์งาม เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษได้เข้ามาร่วมดำเนินการในกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ของทุเรียนหมู่ 12 กับตำบลละลาย โดยเฉพาะการจัดตั้งการรวมกลุ่มของสมาชิกผู้ปลูกทุเรียนแปลงใหญ่โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ในปี 2563 และในปี 2564 เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เข้ามาร่วมจัดตั้งในกลุ่มแปลงใหญ่ ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรมีการพัฒนาให้ความรู้ในการผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต  โดยเฉพาะมาตรฐานที่จำเป็นในการผลิตทุเรียนและยังเป็นความต้องการของตลาด มีมาตรฐาน GAP จังหวัดศรีษะเกษนั้นผลักดันให้กลุ่มที่ได้มาตรฐาน GAP เข้าสู่ทุเรียนอัตลักณ์ของจังหวัดศรีษะเกษ สามารถเข้าขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ GI จำนวน 35 ราย จากสมาชิกทั้งหมด 51 ราย

เป็นความสำเร็จที่เราได้ร่วมดำเนินการในกลุ่มแปลงใหญ่ ซึ่งพาณิชย์จังหวัดจะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของ GI กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษเข้ามาร่วมการให้ความรู้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์รับเข้ามาสอนการทำบัญชี การลดต้นทุนการผลิต  ลดต้นทุนได้เท่าไหร่  เพิ่มผลผลิตได้เท่าไหร่  เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันในส่วนของหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  จากการดำเนินงานโครงการยกระดับแปลงใหญ่ฯ สามารถเพิ่มผลผลิตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้จำนวน 400-500 กิโลกรัมต่อไร่  เดิมผลผลิต 700-800 กิโลกรัมต่อไร่ กลุ่มมีความเข้มแข็งสามารถร่วมกันซื้อร่วมกันขายปัจจัยการผลิตได้ ทำให้ทุเรียนภูเขาไฟมีเอกลักษณ์ เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ทำให้ราคาทุเรียนเพิ่มสูงขึ้น   กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรดีขึ้น

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://siamrath.co.th/n/449043