ค้นหา

กรมส่งเสริมการเกษตรแนะ วิธีเลือกพันธุ์ปาล์มน้ำมัน

กรมส่งเสริมการเกษตร
เข้าชม 230 ครั้ง

ผู้เขียน : ชาติชาย ศิริพัฒน์

ปาล์มน้ำมันพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย นิยมปลูกโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่มีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูก (S1) ตามระบบ Agri-Map พื้นที่ปลูกที่สำคัญ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง พังงา สตูล พัทลุง และระนอง คิดเป็นร้อยละ 82.97 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันรวมทั้งสิ้น 6.15 ล้านไร่ ให้ผลผลิตได้รวมปีละ 18.41 ล้านตันและในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปาล์มน้ำมันนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีราคาดี เกษตรกรขายได้ราคาดี จนรัฐบาลไม่ต้องนำเงินโครงการประกันรายได้มาใช้จ่ายแต่อย่างใด เพราะมีการบริหารจัดการสต๊อกไม่ให้ล้นระบบมากจนเกินไป เลยจูงใจให้เกษตรกรทั้งรายใหม่ รายเก่าหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มมากขึ้น

แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วง เกษตรกรหน้าใหม่ที่ไม่เคยปลูกปาล์มน้ำมันมาก่อน มักจะถูกพ่อค้าหลอกให้พันธุ์ปาล์มที่ไม่มีคุณภาพ เกษตรกรที่หลงซื้อไปปลูก กว่าจะรู้ว่าพันธุ์ปาล์มที่ซื้อมาปลูกนั้นคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานต้องเสียเวลานานหลายปี เกษตรกรเสียทั้งเงินเสียทั้งโอกาสในการสร้างรายได้

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร แนะวิธีการเลือกซื้อต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพ ก่อนการตัดสินใจซื้อ เกษตรกรควรสอบถามข้อมูลและตรวจสอบแหล่งที่มาของพันธุ์ปาล์มน้ำมันจากผู้ผลิต เลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่ถูกหลักวิชาการน่าเชื่อถือ เป็นแปลงเพาะกล้าที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร ที่จะมีป้ายข้อความ “แปลงจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมัน/ต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ได้รับการรับรองโดยกรมวิชาการเกษตร” อยู่ด้านหน้าแปลง พร้อมทั้งหาผู้ผลิตที่สามารถให้คำรับรองพันธุ์ มีหนังสือสัญญาซื้อขาย และมีหลักฐานใบเสร็จรับเงินจากผู้ผลิตเป็นหลักฐาน

สำหรับต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำ คือ ปาล์มน้ำมันพันธุ์เทเนอรา (Tenera) เป็นพันธุ์ลูกผสมที่ใช้ต้นแม่พันธุ์ดูรา ผลมีกะลาหนา กับต้นพ่อพิสิเฟอรา ผลไม่มีกะลา หรือกะลาบางมาก รอบเมล็ดจะมีเส้นใยล้อมรอบ ทำให้ได้ลูกผสมเทเนอราที่ผลจะมีกะลาบางและมีเส้นใยสีน้ำตาลล้อมรอบให้ผลผลิตและเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง

“วิธีการเลือกซื้อพันธุ์ปาล์มน้ำมันให้ดี ควรเลือกต้นกล้าที่มีอายุ 8-12 เดือนขึ้นไป มีลักษณะสมบูรณ์แข็งแรง ทรงต้นแผ่กว้าง ไม่สูงชะลูด โคนต้นอวบ สมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีต้นกล้าที่มีลักษณะผิดปกติปะปนมา เช่น ในระยะอนุบาลแรก อายุ 2-4 เดือน มียอดและใบบิดเบี้ยว ใบขดม้วนรอบเส้นกลางใบ ใบเรียวแคบ ใบกึ่งกลางคอด และต้นแคระแกร็น หรือในระยะอนุบาลหลัก อายุตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป ใบย่อยไม่คลี่ ใบขนนกไม่คลี่เป็นใบย่อยหรือคลี่บางส่วน ใบเกิดใหม่สั้น กาบใบแน่น ทางใบตก และต้นอ่อนแอ ที่จะส่งผลให้ต้นเจริญเติบโตและพัฒนาช้ากว่าปกติ ทั้งขนาดเล็ก แคระแกร็น ให้ผลผลิตที่ได้ต่ำมาก

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร บอกอีกว่า หากเกษตรกรท่านใดต้องการคำแนะนำในการเลือกซื้อ วิธีการดูแลรักษา การใช้ปุ๋ย และวิธีการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมัน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/south/2696278