ผู้เขียน : ชาติชาย ศิริพัฒน์
จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและความผันผวนของราคาปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันต้องรับมือกับปัญหาด้านต้นทุนของปัจจัยการผลิต รวมถึงผลตอบแทนที่ไม่แน่นอนจากการพึ่งรายได้ทางเดียว
ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันกระบี่ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาการปลูกพืชแซมระหว่างแถวปาล์มน้ำมัน เพื่อเป็นแนวทางในการจัดสรรพื้นที่ในสวนปาล์มน้ำมันให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพเสริม เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนในอนาคต
“การปลูกพืชแซมร่วมกับปาล์มน้ำมันให้ประโยชน์หลายอย่าง ช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืช สามารถลดปริมาณศัตรูพืชและวัชพืชได้เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ช่วยเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลและการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน เนื่องจากพืชแซมสามารถช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืชและช่วยรักษาความชื้นในดินได้ เนื่องจากการปลูกพืชแซมบางชนิดช่วยลดปริมาณศัตรูพืชและวัชพืช และยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน อีกทั้งช่วยชะลอการชะล้างพังทลายของหน้าดินได้อีกด้วย”
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยถึงผลดีของการปลูกพืชแซมในสวนปาล์มน้ำมัน และการศึกษาการปลูกดอกหน้าวัว ซึ่งเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดรำไร มีอากาศถ่ายเทสะดวก และอุณหภูมิที่ไม่สูงจนเกินไป ให้เป็นพืชแซมร่วมกับการจัดการน้ำและธาตุอาหารของปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่แปลงศูนย์เรียนรู้ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันกระบี่ ในปาล์มน้ำมันอายุ 15 ปี ในพื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน
โดยปลูกดอกหน้าวัวระหว่างแถวปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่ขนาด 1×3 เมตร มีระยะปลูก 30×30 เซนติเมตร ปรากฏว่า ดอกหน้าวัวที่ปลูกแซมระหว่างแถวปาล์มน้ำมันจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่อมีอายุได้ 5 เดือน สามารถเก็บผลผลิตได้เดือนละ 1–2 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 140 ดอก ขายได้ราคาเฉลี่ยดอกละ 10 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมโดยประมาณไร่ 46,000 บาทต่อปี
และผลการศึกษายังพบว่า การปลูกดอกหน้าวัวเป็นพืชแซมระหว่างแถวปาล์มน้ำมันนอกจากจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ยังสามารถทำให้ปาล์มน้ำมันได้รับน้ำและธาตุอาหารจากการปลูกพืชแซม ลดความเสี่ยงจากการแปรปรวนของสภาพอากาศ และสามารถควบคุมวัชพืชภายในแปลงปาล์มน้ำมันได้อีกด้วย.