ค้นหา

กรมวิชาการเกษตรชูมันฯ ดูดซับก๊าซเรือนกระจก

กรมวิชาการเกษตร
เข้าชม 340 ครั้ง

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยถึงผลการศึกษาวิจัยและประเมินศักยภาพของมันสำปะหลังในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการกักเก็บคาร์บอนภายในส่วนต่างๆของต้นมันสำปะหลัง 26 สายพันธุ์/พันธุ์ โดย ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง พบว่า ในช่วงเช้าจะมีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศอยู่ระหว่าง 400-460 ppm แต่เมื่อสภาพอากาศมีความเข้มแสงเริ่มสูงกว่า 200 µmol PPF m-2s-1 มันสำปะหลังเริ่มมีอัตราการสังเคราะห์แสงสุทธิเพิ่มขึ้น และเมื่อความเข้มแสงสูงกว่า 800 µmol PPF m-2s-1 (ประมาณ 08.00 น.) จะทำให้ใบมันสำปะหลังมีอัตราการสังเคราะห์แสงสุทธิสูงขึ้นอย่างเด่นชัด ส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหนือแปลงปลูกมันสำปะหลังจะลดลงเหลือ 300-350 ppm

“จะเห็นได้ว่ามันสำปะหลังเป็นพืชที่มีศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกักเก็บคาร์บอนไว้ในผลผลิตได้ดี มีส่วนสำคัญต่อการให้ผลผลิตแป้งหรือผลผลิตมันแห้งเฉลี่ยต่อไร่ต่อปีสูง และจากการประเมินศักยภาพของพันธุ์มันสำปะหลังในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก พบว่า มันสำปะหลังแต่ละพันธุ์มีศักยภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่แตกต่างกัน แม้ในมันสำปะหลังพันธุ์เดียวกัน แต่มีช่วงอายุการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน ใบมันสำปะหลังมีศักยภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ที่แตกต่างกันเช่นกัน โดยเฉพาะความชื้นของดินที่เหมาะสมจะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงขึ้น”

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเผยอีกว่า เมื่อใบมันสำปะหลังได้รับความเข้มข้นก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์เพิ่มขึ้น ใบมันสำปะหลังจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปเก็บไว้ภายในช่องว่างระหว่าง เซลล์ของใบได้เพิ่มขึ้น และทำให้ใบมันสำปะหลังมีอัตราการสังเคราะห์แสงสุทธิเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการสังเคราะห์สารประกอบอินทรีย์เพิ่มขึ้น และจากการทดลองพันธุ์มันสำปะหลังส่วนใหญ่มีอัตราการสังเคราะห์แสงสุทธิสูงในช่วง 2-4 เดือนหลังปลูก โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนที่ต้นมันสำปะหลังมีจำนวนใบสมบูรณ์ต่อต้นจำนวนมาก สามารถกักเก็บคาร์บอนได้สูง

สำหรับพันธุ์มันสำปะหลังที่มีศักยภาพดูดซับก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ใช้ความเข้มแสงในระดับต่ำและสูงได้ดี และให้ผลผลิตสูง นายระพีภัทร์ เผยว่า พันธุ์ระยอง 9 ระยอง 11 ระยอง 72 สายพันธุ์ CMR57– 83–69 ห้วยบง 80 และพิรุณ 2 จะเป็นพันธุ์ทางเลือกในการกักเก็บคาร์บอนได้สูงและทำให้การผลิตมันสำปะหลังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

“ในมันสำปะหลัง 26 สายพันธุ์/พันธุ์ เราพบว่า ผลผลิตหัวสดสามารถกักเก็บคาร์บอนเฉลี่ย 0.870 ตันคาร์บอนต่อไร่ และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 3.190 ตัน Co2 ต่อไร่ ทำให้มันสำปะหลังสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่ปลูกทั้งประเทศต่อปี รวมประมาณ 30.11 ล้านตัน Co2 ต่อปี หากนำส่วนต่างๆของมันสำปะหลังที่เหลือลำต้น เหง้า ใบ และก้านใบ มาคำนวณรวมกับรากสะสมอาหาร จะทำให้มันสำปะหลังเป็นพืชที่มีศักยภาพสูงในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก และจะทำให้การผลิตมันสำปะหลังเป็นมิตรต่อภูมิอากาศโลก” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวทิ้งท้าย.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2604465