ค้นหา

NECTEC ผนึกกำลังพันธมิตร เปิดตัวงาน Digital Technology for Sustainable Agriculture ชูผลงานเกษตรดิจิทัลเพื่อความยั่งยืน

เข้าชม 439 ครั้ง

แวดวงเกษตรกรรมเป็นอีกหนึ่งแวดวงที่หลีกหนีแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมและ GDP ของไทยยังต้องพึ่งพาการผลิตในภาคเกษตรกรรม สิ่งนี้ทำให้ NECTEC ไม่สามารถทิ้งแวดวงการเกษตรไว้เบื้องหลังได้ และให้ความสำคัญในการผสานเทคโนโลยี ประยุกต์เข้าสู่ธีมการจัดงานที่โชว์เคสผลงานวิจัยให้สามารถใช้ได้จริง ในงาน NECTEC Annual Conference and Exhibitions (NECTEC–ACE) ประจำปี 2022 นี้ โดยมาในหัวข้อ “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า (Digital Technology for Sustainable Agriculture)” ซึ่งงานจะมีในวันที่ 8-9 กันยายน เดือนเกิดของ NECTEC ที่จะถึงนี้ ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี 

การจัดงานนั้น NECTEC ได้รับความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน (พด.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท. สวทช.) พร้อมพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และสมาคมไทยไอโอที 

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. เป็นผู้กล่าวเปิดตัวงาน พร้อมเปิดเผยว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดงานในหัวข้อที่ให้ความสนใจและต้องการส่งเสริมมาโดยตลอด ในโอกาสที่ปีนี้ NECTEC ก่อตั้งครบ 36 ปี โดย NECTEC เองนั้นเปรียบเสมือนเป็น “เครื่องจักรสำคัญเพื่อสร้างฐานรากทางเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับประเทศ” ทั้งการสร้างแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญให้กับประเทศ นอกจากนี้ NECTEC สวทช. ยังได้เตรียมความพร้อมงานวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยจับมือกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อสร้างให้เกิด Ecosystem เทคโนโลยีที่วิจัยและพัฒนาต่อสาธารณชน ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งแต่ละปีมีผลงานโครงการวิจัยร่วมกัน ไม่ต่ำกว่า 200 โครงการ 

งานวิจัยของ NECTEC ที่ผ่านมาแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ คือ ด้าน Sensor ด้าน Network Connection และด้าน AI&Big Data ซึ่งจะเกิดการใช้งานได้จริงนั้นจำเป็นต้องมีระบบนิเวศ ในงาน NECTEC–ACE ของปีนี้จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีหลายภาคส่วนเข้ามาเติมเต็ม

ขณะเดียวกันภาคเอกชน ก็เป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญ ซึ่งในการจัดงานนี้ มีแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด และ สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ได้เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนงานร่วมด้วย โดยคุณกรรณิกา ตันติการุณย์ Head of 5G Product & Ecosystem Partner Development Advanced Info Service Public Company Limited มีความพร้อมเป็นอย่างมากในการสนับสนุนระบบนิเวศน์ทางดิจิทัลให้เกิดขึ้นจริงในการเกษตรกรรม ขณะที่ทางคุณปุณนะ วงศ์ธนาศิริกุล ผู้จัดการฝ่ายขายแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร จาก Kubota ได้สาธิตการทำงานของ iFarm การทำฟาร์มดิจิทัล โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสร้างความสะดวก ประหยัดต้นทุนด้วยการใช้ Data ควบคุมฟาร์มได้ด้วยแอปพลิเคชัน ผสานกับการใช้ IoT และเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ และสิ่งที่พิเศษคือมีการใช้แอปพลิเคชันเพื่อจ้างบริการรถขับแทรคเตอร์มาไถในพื้นที่การเกษตรของตนหรือเช่าเพื่อการกสิกรรมได้

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมมีการจัดโซนนิทรรศการ ตัวอย่างความสำเร็จ ผลงานวิจัยเพื่อการเกษตร 4.0 ทั้งหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน จะเน้นแสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในภาคการเกษตร ที่ทำได้จริง และตัวอย่างความสำเร็จ ในการแถลงข่าววันนี้จะมีบางส่วนมาให้ได้รับชม พร้อมโซน Matching Technology ที่ท่านสามารถเข้ามาพูดคุย สอบถาม กับเจ้าของงานวิจัย/ เทคโนโลยี โซลูชัน ที่ท่านสนใจจะนำไปใช้ประโยชน์ 

ระบบตรวจวัดในนาข้าวแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อกระตุ้นการเกิดรากให้ต้นข้าวหาสารอาหารได้มากขึ้น 
  • Agri-Map เพื่อการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนในยุค BCG การที่ประเทศมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น ฐานข้อมูลแผนที่เกษตรเชิงรุกของแต่ละจังหวัด (Agri-Map)  ที่ให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องเข้าถึงได้ง่าย จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผน และบริหารจัดการพื้นที่ทางการเกษตร หากได้ขยายผลสู่การพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มข้อมูลเกษตรประเทศไทย เพื่อเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงข้อมูลภาคเกษตร ให้มีข้อมูลที่ครอบคลุมในทุกมิติ บริหารจัดการข้อมูลด้านเกษตรให้เป็นระบบและครบวงจรมากขึ้น รวมถึงมีระบบการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้เกิดการวางแผนและการตัดสินใจที่แม่นยำ ก็จะช่วยยกระดับและเสริมความแข็งแกร่งให้ภาคการเกษตรของประเทศ และการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรได้มากยิ่งขึ้น โดย กรมพัฒนาที่ดิน, เนคเทค สวทช. และ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi)
  • แนวทางสนับสนุนและสิทธิประโยชน์สำหรับเกษตรอัจฉริยะ
     เป็นการนำเสนอแนวทางการเข้าถึงแหล่งทุน สินเชื่อ สิทธิประโยชน์ และการบริการ จากหน่วยงานพันธมิตร อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)  ที่สอดคล้องกับ Digital Agriculture ให้แก่ผู้ประกอบการ 
  • HandySense นวัตกรรมเปิด สู่ประตูธุรกิจ ถอดประสบการณ์ HandySense Open Innovation จากนวัตกรรม “ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ หรือ HandySense สู่เกษตรกรไทย และธุรกิจนวัตกรรมเกษตร ด้วยการผสานความร่วมมือตามแนวทาง  Open   Public-Private-People Partnership  โดย กรมส่งเสริมการเกษตร, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), สมาคมไทยไอโอที, ผู้ประกอบการ และเนคเทค สวทช.
  • เทคโนโลยีเกษตรดิจิทัลสำหรับการผลิตทุเรียนสมัยใหม่ นำเสนอการนำเทคโนโลยีดิจัทัล มายกระดับการผลิตทุเรียน   เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกษตรกรจะต้องพบกับความไม่แน่นอน ควบคุมไม่ได้  คาดการณ์ไม่ได้  โดย วิทยากรที่อยู่ในวงการตลาดทุเรียน รวมทั้ง เกษตรกร ที่กล้าปรับตัว
  • Aqua-IoT เพื่อสัตว์น้ำเศรษฐกิจไทยยุคดิจิทัล     
     Aqua-IoT ชุดอุปกรณ์ตรวจวัด ติดตาม แจ้งเตือน เพื่อช่วยในการเฝ้าระวังสภาวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กายภาพ เคมี ชีวภาพ ในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ช่วยส่งเสริมศักยภาพในการผลิตสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฟาร์มเห็ดนางรมสีทองอัจฉริยะ ควบคุมการให้ละอองไอน้ำที่เหมาะสมด้วยระบบ Ultrasonic

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Open House จุดประกาย เปิดไอเดียสร้างสรรค์ทำเกษตรสมัยใหม่ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมพิเศษในปีนี้ กับการเปิดบ้านให้ท่านได้เยี่ยมชมตัวอย่างแปลงเกษตรสาธิตที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการดำเนินงานจริง ภายในพื้นที่สวทช. และบริเวณใกล้เคียง กับ 4 สถานีเพื่อการเรียนรู้ ได้แก่

  • Plant Factory: โรงงานปลูกพืชระบบปิด โดย BIOTEC สวทช.
  • AGRITEC: สวนเกษตรอัจฉริยะ โดย สท. สวทช.
  • NECTEC Smart Garden: ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ โดย เนคเทค สวทช.
  • สวนเกษตรในเมือง ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืนแห่งแรกในเอเชีย “SDG Lab” 
     อาคารเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

เปิดรับผู้ที่สนใจ จองเข้าเยี่ยมชมตามช่วงเวลา รอบละ 20 ท่าน มีรถบริการสำหรับการเดินทางในแต่ละจุด

ไม่ว่าท่านจะอยู่ในภาคเกษตรกรรม หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน ผู้บริหาร ผู้ประกอบการ นักวิจัย นักวิชาการ นักพัฒนา นักเรียน นักศึกษา ทุกภาคส่วนสามารถร่วมขับเคลื่อนและทำให้เทคโนโลยีเกิดประโยชน์ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน  

งานประชุมวิชาการและนิทรรศการ หรือ NECTEC-ACE ในปีนี้ สามารถลงทะเบียนร่วมงานได้แล้วตั้งแต่วันนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ที่ www.nectec.or.th/ace2022 และเข้าร่วมงานสัมมนาและนิทรรศการได้ในรูปบบ Onsite ณ ศูนย์ประชุม อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. จ.ปทุมธานี ในสัมมนารูปแบบออนไลน์ ผ่าน WebEx Event ในวันที่ 8-9 กันยายน 2565 นี้

แชร์ :