ค้นหา

ไผ่ซางหม่น..พืชมีอนาคต

ไทยรัฐออนไลน์
เข้าชม 461 ครั้ง

จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งเน้นนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตร ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด

สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า ไผ่ซางหม่นนับเป็นหนึ่งในพืชทางเลือกที่มีโอกาสทางการตลาด และมีศักยภาพการผลิตในพื้นที่

ด้วยมีลักษณะโดดเด่น เจริญเติบโตเร็ว มีลำต้นตรงโดยธรรมชาติและมีขนาดสม่ำเสมอ สามารถใช้ประโยชน์ตลอดทั้งลำในการแปรรูป จึงทำให้เกษตรกรนิยมปลูกเพื่อจำหน่ายให้แก่โรงงานแปรรูป

สศท.2 ได้ทำการศึกษาวิจัย พบว่าปีแรกของการลงทุนเกษตรกรจะมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ไร่ละ 7,020 บาท ซึ่งต้นทุนส่วนใหญ่เป็นค่าพันธุ์ไผ่ อยู่ที่ 3,500 บาท ปีที่ 2-3 มีต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 3,520 บาทต่อปี และปีที่ 4 เริ่มให้ผลผลิต จะมีต้นทุนไร่ละ 7,520 บาท เนื่องจากมีค่าจ้างแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิตและต้องบำรุงรักษาต้น

ลำไผ่จะตัดจำหน่ายเมื่อมีอายุตั้งแต่ปีที่ 4 ขึ้นไป แต่จะมีความสมบูรณ์มากเมื่อมีอายุ 6–10 ปี สามารถเก็บเกี่ยวได้นาน 20–30 ปี ให้ผลผลิตลำไผ่เฉลี่ยไร่ละ 8,000 กก.ต่อปี จำหน่ายได้ราคา กก.ละ 1.50 บาท ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยไร่ละ 12,000 บาท ได้กำไรเฉลี่ยไร่ละ 4,480 บาทต่อปี

สถานการณ์ตลาด ปริมาณของผลผลิตยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ผลผลิตลำไผ่ซางหม่นทั้งหมดจะถูกส่งไปยังโรงตอกไม้เส้นในพื้นที่ เพื่อแปรรูปไม้ไผ่ทั้งลำให้กลายเป็นไม้เส้น จากนั้นจะส่งไปยังโรงงานทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ไม้ตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น

จากความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง คาดว่าไผ่ซางหม่นจะเป็นสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในด้านการช่วยปกป้องและฟื้นฟู สภาพดิน น้ำ และป่าไม้ ช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้ เนื่องจากมีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และคายออกซิเจนสู่บรรยากาศได้ดี รวมถึงมีน้ำหนักชีวมวลต่อไร่ที่สูงเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น จึงเป็นทางเลือกในการผลิตเป็นพลังงานทดแทนได้ในอนาคต สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร.0-5532-2650 และ 0-5532-2658 หรืออีเมล [email protected]

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2441361