ค้นหา

ชาวท่าม่วง เมืองกาญจน์ ปลูกลำไยนอกฤดู ร่วมไปกับการนำแนวทางแบบธรรมชาติมาใช้ดูแลโรค/แมลง โดยไม่ใช้สารเคมี

เทคโนโลยีชาวบ้าน
เข้าชม 350 ครั้ง

การทำให้ลำไยให้ออกนอกฤดูปกติเหมือนกับที่หลายจังหวัดทำอยู่ขณะนี้ แม้จะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่หลายแห่งสามารถขายผลผลิตแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าปกติ แต่แนวทางนี้ต้องอาศัยกระบวนการ วิธี และข้อปฏิบัติ ตลอดจนการปลูกและดูแลที่ปลีกย่อย ใส่ใจทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ย การป้องกันแมลง/โรค (ซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน) จึงมิใช่เรื่องง่ายที่จะเอื้อประโยชน์แล้วทำให้ผู้ปลูกประสบความสำเร็จได้ทุกรายคุณโอภาส เกษตรสวนเพชร ชาวท่าม่วง เมืองกาญจน์ ปลูกลำไยนอกฤดู ร่วมไปกับการนำแนวทางแบบธรรมชาติมาใช้ดูแลโรค/แมลง โดยไม่ใช้สารเคมี ช่วยทำให้ลำไยมีคุณภาพทั้งขนาดและรสชาติ เป็นลำไยอินทรีย์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคระดับพรีเมี่ยมส่งขายให้โมเดิร์นเทรดมานานนับสิบปี พร้อมยกระดับชุมชนให้หันมาปลูกเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง 

คุณโอภาส เป็นเจ้าของสวนลำไยชื่อ “บ้านสวนเพชร” ตั้งอยู่เลขที่ 81 หมู่ที่ 6 ตำบลท่าตะคร้อ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เดิมมีสวนชมพู่ที่ดำเนินสะดวก แต่รับภาระต้นทุนไม่ไหวจึงย้ายมาที่ท่าม่วง กาญจนบุรีเมื่อปี 2552 แล้วหันมาปลูกลำไยนอกฤดูแทน

เจ้าของสวนลำไยรายนี้บอกว่า เน้นสร้างผลผลิตออกนอกฤดูเป็นหลัก เพราะสามารถกำหนดให้ผลผลิตออกตามเวลาที่ต้องการได้ ดังนั้น จึงเป็นข้อดีที่ช่วยให้ขายได้ตามเวลาที่ลูกค้าต้องการ จึงวางแผนร่วมกับเพื่อนสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตลำไยเพื่อให้ขายได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างประเทศจีนที่คุณโอภาสมองแผนในอนาคตว่าจะส่งไปขายเนื่องจากในช่วงที่ชาวจีนต้องการบริโภคลำไยแต่ยังไม่มีผลผลิตมากเพียงพอปัจจุบัน ตลาดส่งลำไยของคุณโอภาสกับสมาชิกกลุ่มจะส่งให้กับท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นหลัก เป็นคู่ค้ากันมาตั้งแต่ปี 2544 โดยจะส่งให้ทุกสัปดาห์ แต่จะสอบถามออเดอร์ล่วงหน้าก่อน อีกทั้งการกำหนดราคาจะเป็นแบบลอยตัวตามความเหมาะสม สำหรับผลผลิตอีกส่วนจะส่งขายให้กับผู้รับซื้อตามตลาดประเภทต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีทุกวันนี้ผลผลิตลำไยจากกลุ่มเป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจำนวนมาก ชนิดผลิตขายไม่ทันเพราะเป็นลำไยที่ปลูกจากแหล่งที่ควบคุมคุณภาพการปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี แต่นำวิธีการปลูก ดูแล ตลอดจนการป้องกันโรค/แมลงแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมมาใช้ ตลอดจนยังใส่ใจกับการบริหารจัดการภายในสวนอย่างเต็มที่ทุกขั้นตอน

ในสวนของคุณโอภาสปลูกลำไยไว้จำนวน 270 ต้น ในพื้นที่ขนาด 6 ไร่ (1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 40 ต้น) ใช้ระยะปลูก 6 คูณ 6 เมตร หลังเก็บผลผลิตจะรีบตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงต้นไม่ให้มีขนาดใหญ่มาก สวนลำไยปลูกในลักษณะร่องแบบเดียวกับสวนผลไม้แถวดำเนินสะดวก เจ้าของสวนบอกว่าความจริงแล้วลำไยจะปลูกแบบพื้นราบก็ได้ แต่ที่ต้องปลูกแบบยกร่องเนื่องจากบริเวณโดยรอบเป็นพื้นที่ทำนาหากชาวบ้านปล่อยน้ำก็จะกระทบกับสวนลำไย ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมจึงยกร่องปลอดภัยกว่า หลังจากตัดแต่งทรงพุ่มเรียบร้อยแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย เพราะยังคงมีปุ๋ยเดิมอยู่ในดินเพียงพอกับการเจริญเติบโตไปสักระยะหนึ่ง จากนั้นพอมีใบอ่อนแตกรุ่น 2 จึงค่อยใส่ปุ๋ยสูตร 18-46-0 เพื่อสะสมตาดอกใส่ต้นละครึ่งกิโลกรัม โรยรอบต้นแล้วรดน้ำจะใส่เพียงครั้งเดียว

จากนั้นรอเวลาไปจนถึงช่วงราดสาร พอออกดอกติดผลก็จะนำขี้ไก่ชนิดไม่มีแกลบมาใส่ต้นละ 3-5 กิโลกรัม เพราะมีไนโตรเจนสูงช่วยสร้างให้ผลใหญ่และมีเปลือกหนา เมื่อผลมีขนาดใหญ่ขึ้นอีกจึงใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 ใส่ต้นละครึ่งกิโลกรัมเพียงครั้งเดียวแล้วมาใส่ปุ๋ยอีกครั้งเมื่ออายุผลได้สัก 5 เดือน เป็นปุ๋ยสูตร 8-24-24 เพื่อต้องการขยายขนาด เร่งความหวาน ฉะนั้น สรุปแล้วจะใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง แล้วใส่ขี้ไก่ 1 ครั้ง ดังนั้น เมื่อดูแล้วจะไม่เปลืองต้นทุนปุ๋ยมากนัก คุณโอภาส เผยว่า ช่วงราดสารจะดูว่าต้องการให้มีผลผลิตส่งขายช่วงใด จากนั้นจึงนับเวลาถอยหลังกลับไปประมาณ 6 เดือนครึ่ง ถึง 7 เดือน จึงราดสารควบคู่ไปกับการดูแลบำรุงต้นให้สมบูรณ์ พร้อมกับชี้ว่าพื้นที่ปลูกผลไม้แถวนี้อาศัยน้ำจากระบบชลประทาน ทำให้มีน้ำใช้ไม่ขาด แล้วสภาพดินยังมีความชุ่มชื้นซึ่งถือว่าได้เปรียบจึงเป็นโอกาสเหมาะสำหรับการปลูกไม้ผลนอกฤดูลำไยในสวนของคุณโอภาสการันตีว่าปลอดสารจริง เพราะเจ้าของสวนเล่าถึงวิธีป้องกันโรค/แมลงที่นำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาใช้ว่า มีสูตรผสมน้ำฉีดพ่นที่นำวัสดุจากธรรมชาติอย่างเปลือกไข่ ยาสูบ และเหล้าขาวมาใช้ โดยในพื้นที่สวนลำไยจำนวน 5 ไร่ ใช้เหล้าขาวขวดใหญ่จำนวน 4 ขวด ยาสูบ 3 ขีด เปลือกไข่ป่น  2 ขีด นำมาหมักรวมกันสัก 2 คืน แล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำเป็นหัวเชื้อไปผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร แล้วผสมกับน้ำยาล้างจานแบบถูกๆ 20 ซีซี แล้วนำไปฉีดพ่นทั่วต้น

คุณสมบัติของเปลือกไข่และยาสูบจะทำให้แมลงศัตรูเหม็น ส่วนน้ำยาล้างจานจะทำให้ติดที่ผิวของแมลงแล้วจะลื่น แนวทางนี้รับรองได้ผลเกินร้อย ทำให้ผลผลิตลำไยมีคุณภาพสมบูรณ์ ผิวสวย ลูกกลม ขายได้ราคาสูงอย่างไรก็ตาม สูตรการทำน้ำยาป้องกันแมลงแนวอินทรีย์นี้ทางคุณโอภาสบอกว่า สามารถใช้ได้กับพืชผักผลไม้ชนิดต่างๆ ได้ทั้งหมดเพราะดูแลป้องกันแมลงแบบครอบจักรวาล แล้วยังไม่สงวนสิทธิ์หากนำไปใช้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามเบอร์ที่แจ้งไว้ การวางแผนให้มีผลผลิตตลอดเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดนั้น คุณโอภาสเผยว่า ทั้งสวนของเขาและสวนของสมาชิกกลุ่มจะใช้แนวทางเดียวกันด้วยวิธีกำหนดให้ได้สวนละ 3-4 รุ่น เพื่อไม่ให้ขาดช่วง โดยแต่ละต้นสามารถให้ผลผลิตได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม จะป้อนขายให้ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เฉลี่ยวันละ 600-700 กิโลกรัม ราคาปกติกิโลกรัมละ 80 บาท (16 มกราคม 2562) แต่ถ้าช่วงตรุษจีนหรือเทศกาลสำคัญส่งขายราคากิโลกรัมละ 100 บาทส่วนลูกค้ารายอื่นจะเป็นลำไยอีกชุดที่ไม่เข้าเกณฑ์ แต่มีคุณภาพเช่นเดียวกับที่ส่งโมเดิร์นเทรด เพียงแต่ขนาดไม่ได้ตามเกณฑ์เท่านั้น โดยมีพ่อค้า-แม่ค้ามารับซื้อไปขายตามสถานที่ต่างๆ และขายส่งในราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ยอดสั่งซื้อจากลูกค้าแล้วจึงมาวางแผนการผลิตร่วมกับสมาชิกกลุ่ม โดยถือหลักว่าจะผลิตตามจำนวนให้เหมาะสมแล้วมีคุณภาพสูงสุดเพื่อรักษามาตรฐาน จะไม่ผลิตมากเกินไปเพราะจะล้นตลาดแล้วทำให้ราคาตกจุดเด่นของลำไยกลุ่มนี้คือ มีคุณสมบัติเปลือกหนา เนื้อแห้ง กรอบหวาน ผลขนาดใหญ่ (บางรุ่นสมบูรณ์มากจะใหญ่กว่าเหรียญ 10 บาท) ที่สำคัญเป็นลำไยที่ปลูกแบบปลอดสาร ไม่เน่าเสียง่ายแม้ไม่ต้องอบกำมะถัน จึงทำให้รับประทานได้มากโดยไม่เจ็บคอ ร้อนใน คุณโอภาสรับตำแหน่งเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชื่อ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามัคคีพัฒนาไม้ผล” โดยสมาชิกกลุ่มจะปลูกลำไยกันประมาณ 70 ราย มีพื้นที่ปลูกรวมประมาณ 300 ไร่ นอกจากนั้น สมาชิกยังปลูกฝรั่งและผลไม้อื่นๆ ทั้งนี้ ผลผลิตลำไยที่จำหน่ายให้ลูกค้าก็จะใช้ทั้งสวนตัวเองและสวนสมาชิก ซึ่งเป็นสมาชิกระดับอำเภอของท่าม่วงจำนวน 13 ตำบล โดยกำหนดให้แต่ละตำบลปลูกกันในแต่ละเดือน

สำหรับผู้สนใจปลูกลำไยคุณโอภาสบอกว่า ใช้เวลาปลูกเพียง 3 ปีก็ได้ผลผลิตแล้ว โดยแนะนำคนที่ซื้อกิ่งพันธุ์ไปปลูกว่าผลผลิตรุ่นแรกให้เก็บไว้สัก 20 กิโลกรัม หากขายราคากิโลกรัมละ 50 บาท จะมีรายได้ต้นเดียว 1,000 บาท แล้วถ้าปลูกเพียง 1 ไร่ จำนวน 40 ต้นจะมีรายได้ 40,000 บาท ซึ่งความจริงคงปลูกมากกว่า 1 ไร่อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ผลผลิตลำไยตลอดจนรายได้จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณหลังจากผลผลิตรุ่นแรกผ่านไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณโอภาส เกษตรสวนเพชร โทรศัพท์ 081-378-9435

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_107640?utm_source=izooto&utm_medium=push_notifications&utm_campaign=@campaign_agricultural-technology&utm_term=agricultural-technology