กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง ภายใต้ WTO ตั้งแต่วันนี้ ถึง 23 ม.ค.67 เผยเป็นความตกลงฉบับแรกของ WTO ที่จะช่วยลดและควบคุมการอุดหนุนประมงของประเทศสมาชิกที่มีมูลค่าการอุดหนุนในระดับสูง รักษาความยั่งยืนของสัตว์น้ำทางทะเล ชี้เป็นประโยชน์กับไทยไทยในการจับสัตว์น้ำและแข่งขันในการส่งออกสินค้าประมงไปตลาดโลกได้อย่างเท่าเทียม
น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง (Agreement on Fisheries Subsidies) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเป็นการจัดทำกฎระเบียบเพื่อห้ามและควบคุมการอุดหนุนที่ภาครัฐของแต่ละประเทศให้แก่ภาคประมงที่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อรักษาความยั่งยืนของสัตว์น้ำทางทะเล จึงขอเชิญหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อให้การจัดทำความตกลงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสม ผ่านทาง www.dtn.go.th ตั้งแต่วันนี้ ถึง 23 ม.ค.2567 ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักการค้าสินค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โทร. 0 2507 7485
สำหรับความตกลงดังกล่าว ถือเป็นความตกลงฉบับแรกของ WTO ที่มีเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดและควบคุมการอุดหนุนของประเทศสมาชิก WTO ที่มีมูลค่าการอุดหนุนในระดับที่สูง โดยหากลดการอุดหนุนของประเทศสมาชิกดังกล่าว จะทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลมีความยั่งยืนสำหรับการทำประมงในอนาคต รวมทั้งไทยสามารถจับสัตว์น้ำและแข่งขันในการส่งออกสินค้าประมงไปตลาดโลกได้อย่างเท่าเทียม
ทั้งนี้ การเจรจาจัดทำความตกลงได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2544 เนื่องจาก WTO ได้ตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำโลก และการอุดหนุนจากประเทศสมาชิก WTO ที่ให้แก่ภาคประมงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดการจับสัตว์น้ำมากจนทรัพยากรสัตว์น้ำร่อยหรอ โดยที่ประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญครั้งที่ 4 (MC4) ได้มีปฏิญญา (Declaration) ให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการอุดหนุนประมง แต่การเจรจาได้หยุดชะงักไปในช่วงปี 2555-2558 เนื่องจากท่าทีของประเทศสมาชิกที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจากระดับการพัฒนาและเศรษฐกิจที่หลากหลาย
ต่อมา ประเทศสมาชิกได้กลับมาเริ่มเจรจาความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงอีกครั้ง เมื่อสหประชาชาติ (United Nations) ได้จัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นในปี 2558 (Sustainable Development Goals: SDGs) และ WTO ได้นำ SDG ข้อที่ 14.6 ที่ระบุเกี่ยวกับการห้ามและกำจัดการอุดหนุนประมงที่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำมาเป็นเป้าหมายในการเจรจา และ WTO สามารถสรุปผลการเจรจาได้ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญครั้งที่ 12 (MC12) เมื่อเดือน มิ.ย.2565
ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว จำนวน 55 ราย เช่น สิงคโปร์ สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป และไนจีเรีย ซึ่งความตกลงจะมีผลบังคับใช้ เมื่อมีประเทศสมาชิกจำนวน 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 110 ประเทศ จากทั้งหมด 164 ประเทศ ให้สัตยาบันความตกลง