“เดิมทำเกษตรเชิงเดี่ยวปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ประสบปัญหาเรื่องการแพ้สารเคมี จึงเข้ารับการอบรมตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท เพื่อเรียนรู้การลดต้นทุนและศึกษาการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน เมื่อเกิดความรู้ ความเข้าใจ จนสามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่เพาะปลูกข้าว 34 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ยมากกว่า 1 ตันต่อไร่”
นายขวัญชัย แตงทอง ประธานศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอหันคา (ศพก.หันคา) ประธานแปลงใหญ่ข้าวบ้านบึงม่วง ต.สามง่ามท่าโบสถ์ อ.หันคา จ.ชัยนาท เจ้าของรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาทำนา ปี 2562 รางวัลรองชนะเลิศแปลงใหญ่ดีเด่น ปี 2565 และรางวัล ศพก.ดีเด่นระดับเขต (ภาคกลาง) ปี 2565 เกริ่นถึงที่มาของความสำเร็จในการปลูกข้าว
ที่ได้มาจากการพัฒนาคุณภาพกระบวนการผลิตในด้านที่สำคัญ ได้แก่ การนำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน มาใช้เป็นเครื่องมือในการพ่นสารชีวภัณฑ์ทางการเกษตร…การหว่านเมล็ดพันธุ์เพื่อทดแทนแรงงานซึ่งค่อนข้างหายากและค่าแรงค่อนข้างสูง
การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน สร้างระบบนิเวศให้สมดุล ใช้ศัตรูธรรมชาติควบคุมศัตรูพืชโดยใช้หลายๆวิธีในการควบคุมศัตรูพืช ไม่ให้มีปริมาณที่เป็นอันตรายก่อให้เกิดความเสียหาย ประหยัด ปลอดภัย ปลูกพืชให้แข็งแรง อนุรักษ์ธรรมชาตินอกจากนั้นยังใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การใส่ปุ๋ยผสมกับจุลินทรีย์จะช่วยเรื่องการดูดซับปุ๋ย ลดการใช้ปุ๋ย 25% ช่วยเพิ่มปริมาณรากข้าวทำให้สามารถดูดซับธาตุอาหารได้มากขึ้น
รวมถึงการใช้น้ำหมักชีวภาพสารชีวภัณฑ์ต่างๆ ทดแทนสารเคมี ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี และการใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชและโรคพืช เช่น เชื้อราบิวเวอร์เรีย เชื้อราไตรโคเดอร์มา สารสะเดา และน้ำหมักชีวภาพชนิดต่างๆ ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยลงได้
ทั้งนี้จากการพัฒนาคุณภาพกระบวนการผลิต สามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างชัดเจน โดยปีเพาะปลูก 2565/66 (ข้าวนาปี) สามารถเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 35 จากเดิมมีผลผลิตแค่เพียงไร่ละ 850 กก. เพิ่มมาเป็น 1,150 กก.
นอกจากจะประสบผลสำเร็จในด้านการผลิตแล้วยังได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอหันคา และศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ในการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ในรูปนาแปลงใหญ่ บ้านบึงม่วง จัดทำแปลงเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ให้กับศูนย์ข้าวและเกษตรกรทั่วไป และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง บางส่วนใช้แปรรูปเป็นข้าวสารไว้บริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายกับผู้สนใจ ทำให้ได้ราคาสูงกว่าเกษตรกรทำนาทั่วไป.