ค้นหา

‘กรมประมง’แจ้งเตือนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เฝ้าระวัง 4 โรค ช่วงปลายฝนต้นหนาว

กรมประมง
เข้าชม 43 ครั้ง

กรมประมง แจ้งเตือนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เฝ้าระวัง 4 โรคสัตว์น้ำ ที่มักพบได้บ่อยในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล หรือช่วงปลายฝนต้นหนาว จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ฝนตกสลับอากาศร้อนในบางพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำอย่างรวดเร็ว กระทบทั้งสัตว์น้ำที่เลี้ยงในบ่อและกระชังในแหล่งน้ำเปิด ย้ำเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ดูแลอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมงอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ช่วงปลายฝนต้นหนาว สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ ทำให้ปลาอ่อนแอ ป่วย และไวต่อเชื้อก่อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคอียูเอส โรคตัวด่าง โรคไวรัสเคเอชวี และโรคไวรัสตัวแดงดวงขาว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเบื้องต้นกรมประมงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานประมงจังหวัดต่างๆ ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในสัตว์น้ำ สำหรับโรคสัตว์น้ำ 4 ชนิด ที่สามารถพบได้ในช่วงของปลายฤดูฝนเข้าช่วงต้นของฤดูหนาว มีดังนี้

1.โรคอียูเอส (Epizootic Ulcerative Syndrome : EUS) หรือ “โรคแผลเน่าเปื่อย” เป็นโรคที่อยู่ภายใต้ระบบการเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำของประเทศไทย มีสาเหตุจากเชื้อราสกุลอะฟลาโนมัยซิส (Aphanomyces invadans) ปลาที่ป่วย จะพบลักษณะอาการแผลเน่าเปื่อยลึกตามตัว โรคนี้พบได้ในปลาหลายชนิดทั้งที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติและบ่อเลี้ยง เช่น ปลาช่อน ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลากระสูบ ปลาแรด และปลาสลิด เป็นต้น ปัจจุบันยังไม่มียาหรือสารเคมีที่จะใช้ในการรักษาโรคได้ แต่ปลาจะสามารถหายได้เองเมื่อสภาพอากาศและน้ำในบ่อเลี้ยงมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้เชื้อราเจริญและแพร่กระจายได้น้อยลง ในขณะที่ปลามีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นจนสามารถรักษาอาการป่วยเองได้

2.โรคคอลัมนาริส (Columnaris Disease) โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียสกุลฟลาโวแบคทีเรียม (Flavobacterium columnare) พบมากในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงและอุณหภูมิน้ำต่ำ พบได้บ่อยกับปลาหลังจากการย้ายบ่อ หรือหลังการขนส่ง ลักษณะอาการปลาที่ป่วยจะมีแผลด่างขาวตามลำตัว ครีบกร่อน เหงือกเน่า หากติดเชื้อรุนแรงปลาจะมีอัตราการตายสูงในระยะเวลาสั้น สามารถพบโรคนี้ได้ในปลาหลายชนิด เช่น ปลานิล ปลาสวยงาม ปลากะพงขาว ปลาดุก ปลาช่อน และปลาบู่ เป็นต้น วิธีการป้องโรค คือ การจัดการการเลี้ยงลูกพันธุ์สัตว์น้ำ โดยลดความหนาแน่น ลดอาหาร ควบคุมคุณสมบัติน้ำให้เหมาะสม ในระหว่างการเคลื่อนย้ายหรือขนส่ง โดยให้ใช้เกลือแกง 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ตัน (0.1 %) เพื่อช่วยลดความเครียดของปลา

3.โรคเคเอชวี (Koi Herpesvirus Disease : KHVD) โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส พบในปลาตระกูลคาร์ปและปลาไน ปลาที่ป่วยจะแสดงลักษณะอาการรวมกลุ่มอยู่ตามผิวน้ำและขอบบ่อ ซึม ว่ายน้ำเสียการทรงตัว ลำตัวมีเมือกมากและมักพบมีแผลเลือดออกตามลำตัว ปลาที่มีอาการติดเชื้อรุนแรงจะพบอาการเหงือกเน่า ปลาอ่อนแอ กินอาหารน้อยลงหรือไม่กินอาหาร ทยอยตายโดยพบว่ามีอัตราการตายสูงถึง 50 – 100 % โรคนี้ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาและสารเคมี วิธีการป้องโรค คือ ลดความหนาแน่นปลา ลดอาหาร ควบคุมคุณสมบัติน้ำให้เหมาะสม และรักษาตามอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และหรือปรสิต เป็นต้น

4.โรคตัวแดงดวงขาว (White Spot Syndrome Virus : WSSV) ในกุ้งทะเล ภายหลังจากกุ้งได้รับเชื้อประมาณ 3 – 4 วัน กุ้งที่ป่วยจะพบอาการว่ายบริเวณผิวน้ำ หรือว่ายมาเกยขอบบ่อ พบกุ้งในยอมีอาการตัวแดงเพิ่มจำนวนมากขึ้น และบางครั้งพบว่ามีจุดขาวเล็ก ๆ เกิดขึ้นใต้เปลือกหุ้มส่วนหัว และเมื่อจำนวนกุ้งป่วยมากขึ้น อัตราการกินอาหารจะลดลงในขณะที่อัตราการตายของกุ้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถึง 100% ภายในระยะเวลา 5 – 7 วันโรคนี้ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาและสารเคมีได้ วิธีการป้องกันโรค คือ การเลือกใช้ลูกกุ้งทะเลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีการจัดการฟาร์มที่เหมาะสมตามระบบความปลอยภัยทางชีวภาพ เพื่อป้องกันเชื้อจากภายนอกฟาร์มเข้าสู่ฟาร์ม

นอกจาก 4 โรคข้างต้นแล้ว เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควรเตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังโรคสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงที่มีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมง ดังนี้

– วางแผนการเลี้ยงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น เว้นช่วงการเลี้ยงปลาในกระชังในช่วงนี้ เลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่ขึ้นทะเบียนมีคุณภาพดี และให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดการสะสมของของเสีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำและสุขภาพสัตว์น้ำได้

– ตรวจสอบความสะอาดของกระชังเลี้ยงสัตว์น้ำ ไม่ให้มีการสะสมของตะกอนหรือสารอินทรีย์ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนน้ำและการแลกเปลี่ยนออกซิเจนของสัตว์น้ำ

– ควรติดตั้งเครื่องให้อากาศหรือเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ กรณีช่วงที่อากาศปิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันสัตว์น้ำเกิดอาการน็อคน้ำและตายได้ ในกรณีที่ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของน้ำในบ่อลดลง ควรเติมวัสดุปูน เช่น ปูนขาว หรือปูนมาร์ล เป็นต้น และควรเติมเกลือ เพื่อลดความเครียดของสัตว์น้ำ

– เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้สัตว์น้ำ โดยการเสริมอาหารหรือวิตามินที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ เช่น โปรไบโอติก วิตามินซี วิตามินรวม แร่ธาตุต่างๆ โดยพิจารณาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เพื่อให้ได้สินค้าที่ได้มาตรฐานตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ทั้งนี้ หากพบสัตว์น้ำในพื้นที่ของท่านป่วยหรือตาย ให้รีบแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดหรือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง/น้ำจืดในพื้นที่ หรือแจ้งมายังกองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ กรุงเทพฯ โทร. 0 2579 4122 / ศูนย์วิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำสงขลา โทร. 0 7433 5243

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.naewna.com/local/843480