ค้นหา

ผลผลิต “ทุเรียนนอกฤดูใต้” ต่ำกว่าเป้า สภาพอากาศแปรปรวน-ทำคุณภาพเพี้ยน

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ
เข้าชม 67 ครั้ง

ทุเรียนนอกฤดูพื้นที่ภาคใต้ 2567/68 ต่ำกว่าเป้าหมาย ผลผลิตทั่วพื้นที่ภาคใต้ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เฉพาะพื้นที่พัทลุงมีผลผลิตไม่ถึง 30% สาเหตุสำคัญ สภาพภูมิอากาศผันแปร ฝนไม่ตกตามฤดูกาล คุณภาพลด รูปทรงไม่สวย ส่งผลต่อราคาในตลาดต่ำ

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ เจ้าของสวนทุเรียน อ.เบตง จ.ยะลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูกาลทุเรียนภาคใต้ แต่ทิศทางราคาไม่ดีเฉลี่ยประมาณ 60-70 บาท/กก. เนื่องจากคุณภาพไม่ดี รสชาติไม่หวาน รูปทรงไม่สวย ทั้งหมดเป็นผลจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไม่นิ่ง ส่งผลกระทบต่อราคาเปลี่ยนแปลงไป เทียบกับช่วงต้นฤดูราคาจะเฉลี่ยประมาณ 100-110 บาท/กก.

“ตอนนี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีการโค่นยางพาราหันมาลงทุนปลูกทุเรียนกันมาก โดยเฉพาะ จ.ยะลา ทั้งที่ได้ผลผลิตแล้ว และเพิ่งปลูกอายุได้ 1-2 ปี และ 3-4 ปี น่าจะมีผลต่อราคาตลาดทุเรียนในอนาคต เพราะมีการลงทุนขยายการปลูกกันมากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย สปป.ลาว กัมพูชา ซึ่งมีการลงทุนปลูกกันมาก โดยเฉพาะเวียดนามคู่แข่งสำคัญ มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย

ทั้งด้านโลจิสติกส์ แรงงาน และระยะทางอยู่ใกล้ตลาดจีนที่เป็นตลาดหลักขนาดใหญ่ จึงได้เปรียบทุเรียนไทยทุกด้าน แนวโน้มในอนาคตจึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล ดังนั้น การลงทุนปลูกทุเรียนจะต้องเน้นกันที่คุณภาพ และจะต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างเป็นมืออาชีพ เพื่อให้คุณภาพทุเรียนออกมาตามที่ตลาดต้องการ” นายกัมปนาทกล่าว

นายไพรวัลย์ ชูใหม่ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักเกษตรจังหวัดพัทลุง ที่ปรึกษารับทำสวน จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทุเรียนไทยสามารถออกผลผลิตได้ตลอดทั้งปี โดยมีสวนที่ปลูกทุเรียนนอกฤดูกันจำนวนมาก แต่ปีนี้ทุเรียนนอกฤดูกาลในปี 2567/2568 ผลผลิตทั่วพื้นที่ภาคใต้ลดลงมากไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

เฉพาะพื้นที่พัทลุงมีผลผลิตไม่ถึง 30% สาเหตุสำคัญที่ผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศผันแปร ฝนตกแตกต่างจากฤดูฝนทั่วไป ทั้งหมดส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิต ทำให้กระทบต่อราคาในตลาด

ทั้งนี้ บางสวนดำเนินการไปประมาณ 200 ต้น แต่ได้ผลผลิตเพียงประมาณ 20 ต้น ได้ผลผลิตประมาณ 200 ลูก โดยเฉลี่ยลูกละประมาณ 3 กก. ภาพรวมประมาณ 600 กก. ปีนี้มีบางสวนเริ่มออกผลผลิตได้ประมาณ 1 เดือน และอีก 3 เดือน จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2568 แต่บางสวนเก็บเกี่ยวได้ก่อนขึ้นอยู่กับการดำเนินการ

“ในพื้นที่ภาคใต้มีการลงทุนขยายการปลูกทุเรียนกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งรายย่อย รายเล็ก ซึ่งจากการหารือถึงทิศทางในอนาคต วิเคราะห์กันว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ผลผลิตทุเรียนในประเทศไทยจะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และผลผลิตของทุเรียนจากประเทศต่าง ๆ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา

รวมถึงจีนเองก็เริ่มทดลองปลูก ขณะที่ต้นทุนการปลูกของหลายประเทศต่ำกว่าของไทย และจีนจะปลูกทุเรียนอินทรีย์ด้วย ทำให้หลายคนเริ่มมีความกังวล ราคาจะปรับตัวลงมากอาจจะอยู่ที่ 50 บาท/กก. ดังนั้นทุเรียนไทยจะต้องปรับกลยุทธ์ทางออก จะต้องลดต้นทุนการผลิต และทำทุเรียนคุณภาพจะเป็นหนทางที่จะแข่งขันกับทุเรียนต่างประเทศได้” นายไพรวัลย์กล่าว

อนึ่ง ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา ระบุว่า ปี 2567 ทุเรียนภาคใต้มีเนื้อที่ยืนต้นประมาณ 814,414 ไร่ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ประมาณ 12.12% เนื้อที่ให้ผลประมาณ 578,464 ไร่ เพิ่มขึ้นประมาณ 5.71% ซึ่งประมาณการผลผลิตปี 2567 ประมาณ 558,353 ตัน

ลดลงจากปี 2566 ประมาณ 8.83% ผลผลิตเฉลี่ย 965 กก./ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมา 13.76% ปัจจัยเนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย แล้ง อากาศร้อน ฝนทิ้งช่วงยาวนาน เกิดน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลให้ดอกผลร่วง รวมทั้งมีผลต่อคุณภาพผลผลิต ทำให้รูปทรงผลไม่สวย

ทั้งนี้ผลผลิตทุเรียนในปี 2567 จำนวน 558,353 ตัน จะเป็นทุเรียนในฤดูกาลภาคใต้ ซึ่งเก็บเกี่ยวช่วงระยะเดือนมิถุนายน-ตุลาคม 2567 โดยประมาณ 82% หรือประมาณ 455,082 ตัน ส่วนที่เหลืออีก 18% ประมาณ 103,271 ตัน จะเป็นทุเรียนนอกฤดู ซึ่งจะเก็บเกี่ยวช่วงระยะเดือนมกราคม-พฤษภาคม และพฤศจิกายน-ธันวาคม 2567 ซึ่งปัจจุบันเก็บเกี่ยวทุเรียนในฤดูกาลแล้วร้อยละ 13.58% หรือประมาณ 61,806.08 ตัน

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.prachachat.net/local-economy/news-1694216