ค้นหา

เกษตรระยอง เดินหน้าส่งเสริมแปลงใหญ่มังคุดสู่มาตรฐาน GAP ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดต้นทุนการผลิต

นายสังวร ศรีสุข
เข้าชม 283 ครั้ง

เกษตรระยอง ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่มังคุด ต.กะเฉด ผลิตมังคุดคุณภาพมาตรฐาน GAP เน้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพบำรุงฟื้นฟูดิน ลดต้นทุนการผลิต

น.ส.วรนุช สีแดง เกษตรจังหวัดระยอง พร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามการดูแลรักษาต้นมังคุดช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดในกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่มังคุด ต.กะเฉด อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต พัฒนา และยกระดับคุณภาพของผลผลิตให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่มังคุดตำบลกะเฉด มีนายสังวร ศรีสุข เป็นประธานกลุ่มฯ มีสมาชิก 35 ราย พื้นที่ปลูกรวม 322 ไร่ ปัจจุบันมังคุดของเกษตรกรสมาชิกในกลุ่มได้มาตรฐานการรับรอง GAP ครบ 100 เปอร์เซ็นต์

นายสังวร กล่าวว่า เกษตรแปลงใหญ่มังคุด ต.กะเฉด มีการรวมกลุ่มกันจนเกิดความเข้มแข็ง ส่งผลดีทำให้การดำเนินงานของกลุ่มประสบความสำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ 5 ด้านของเกษตรแปลงใหญ่คือสามารถลดต้นทุนการผลิต ร้อยละ 20 เพิ่มผลผลิต ร้อยละ 20 ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน GAP มีการบริหารจัดการที่ดี และมีตลาดรับซื้อรองรับอย่างน้อย 2 แห่ง ด้านการประชุมแต่ละเดือน ทางกลุ่มฯ มีการประชุมสมาชิก เพื่อสรุปบัญชีรายรับ-รายจ่าย และแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกรับทราบถึงสถานการณ์ต่างๆ เช่น โรคและแมลง การเตือนภัยต่างๆ ข่าวสารของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งปรึกษาหารือปัญหาอุปสรรคในด้านต่างๆ และความต้องการของสมาชิกในกลุ่มด้วย

ส่วนการผลิตมังคุดให้ได้มาตรฐาน GAP ทางกลุ่มได้มีการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้สมาชิกได้ให้เห็นถึงความสำคัญของการได้รับรองมาตรฐาน GAP เป็นการพัฒนาตัวเองด้วย และเป็นมติกลุ่มร่วมกันว่าสมาชิกในแปลงใหญ่ของกลุ่มฯ ทุกคนต้องได้รับมาตรฐาน GAP หากสมาชิกติดปัญหาก็จะร่วมกันแก้ไขปัญหา จนปัจจุบันสมาชิกในกลุ่มทั้ง 35 ราย ได้รับมาตรฐาน GAP ครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งการทำเกษตรแปลงใหญ่ดังกล่าว ส่งผลให้สมาชิก มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ และการได้รับรองมาตรฐาน ทำให้ผลผลิตมีความน่าเชื่อถือจากพ่อค้า และผู้บริโภค โดยผลผลิตส่วนใหญ่ของทางกลุ่มฯ จะจำหน่ายเพื่อการส่งออก โดยมีล้งรับซื้อร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมด

ด้านน.ส.วรนุช กล่าวว่า เกษตรแปลงใหญ่ กรมส่งเสริมการเกษตร มุ่งสร้างและให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง สามารถเดินต่อไปด้วยความเข้มแข็งของกลุ่มตัวเอง ซึ่งหน้าที่เกษตรจังหวัดซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ใกล้ชิดเกษตรกรจะมีหน้าที่ให้ความรู้การผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน เริ่มตั้งแต่การตรวจวิเคราะห์ค่าของดิน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเป็นกระดุมเม็ดแรกในการที่จะพัฒนาคุณภาพในการลดต้นทุน เพราะหัวใจเกษตรแปลงใหญ่คือการลดต้นทุนการผลิต เพื่อคุณภาพ สุดท้ายจบที่ตลาด ซึ่งการตรวจวิเคราะห์ค่าดิน เจ้าหน้าที่จะมีการให้ความรู้กับเกษตรกร ก่อนจะมีการให้เกษตรกรลงปฏิบัติตรวจวิเคราะห์ค่าดินให้ได้ รวมทั้งการจัดการต้นมังคุด การตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง ถูกเวลา และถูกสูตรปุ๋ยตามความต้องการของพืช ลดการใช้สารเคมีหรือถ้าใช้สารเคมีก็ให้ลดการใช้ลง หรือเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพแทน ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้ลดต้นการผลิตลง และผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งเกษตรแปลงใหญ่มังคุด ต.กะเฉด ดังกล่าว

โดยในอนาคตทางสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง จะต้องสร้างอัตลักษณ์ในเรื่องของรสชาติให้ได้ ทำมังคุดให้ได้คุณภาพทุกลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้มาจากการบริหารจัดการต้นมังคุดที่มาจากดิน ซึ่งดินมีส่วนสำคัญที่จะทำให้มังคุดมีรสชาติดีขึ้น ซึ่งต้องมีการเน้นปรับปรุงบำรุงดิน โดยสนับสนุนปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้เกษตรกรฟื้นฟูบำรุงดิน โดยการหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งในการตรวจวิเคราะห์ค่าดินของภาคตะวันออกที่ผ่านมาพบว่า ค่าดินมีความเป็นกรดด่างสูงและต่ำเพราะว่ามีการใช้สารเคมีเกินความจำเป็นและตกค้างในดิน

ทั้งนี้ จะมีการนำค่าของดินมาชี้ให้เห็น และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเกษตรกรให้หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพมากขึ้น เพื่อลดค่าความเป็นกรดด่างลง ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตอย่างถาวรและยั่งยืน ในส่วนการทำมังคุดในอดีตเน้นทำผิวมัน ปัจจุบันตลาดส่งออกของประเทศจีน รู้จักมังคุดผิวลายมากขึ้น ข้อดีคือ 1.ใช้สารเคมีน้อยลง 2.ต้นทุนการผลิตลดลงแน่นอน 3.รสชาติดีกว่ามังคุดผิวมัน และ 4.มังคุดที่เป็นเนื้อแก้วของผิวลายจะน้อยกว่าผิวมัน ซึ่งในส่วนนี้การผลักดันหรือขับเคลื่อนให้เกษตรกรเข้าสู่ GAP นั้น จะมีส่วนสำคัญในเรื่องของการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.dailynews.co.th/news/2367886/