ค้นหา

ก.เกษตรฯ ดันขยายพื้นที่ ปลูกมันฝรั่ง ปีละ 1 หมื่นไร่ รองรับความต้องการเอกชน

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)
เข้าชม 222 ครั้ง

ก.เกษตรฯ ดันเกษตรกร ขยายพื้นที่ปลูกมันฝรั่ง ได้ราคาดี มีความต้องการสูง ตั้งเป้าขยายพื้นที่อีกปีละ 1 หมื่นไร่ ใน 9 จังหวัดเป้าหมาย พร้อมออก 4 โครงการหนุน ลดต้นทุนค่าปุ๋ยและหัวพันธุ์

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิต มันฝรั่ง ปี 2566 พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 40,732 ไร่ แยกเป็นมันฝรั่งพันธุ์โรงงาน  39,291 ไร่ และพันธุ์บริโภค 1,441 ไร่  เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 367 ไร่ หรือ 0.91% ปริมาณผลผลิตทั้งปี 120,263 ตัน แยกเป็นมันฝรั่งพันธุ์โรงงาน 115,567 ไร่ และพันธุ์บริโภค 1,441 ไร่ โดยผลผลิตภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 9,403 ตัน หรือ 8.48%

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

ปัจจุบันแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดตาก เชียงใหม่ เชียงราย ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นมันฝรั่งรุ่นฤดูแล้ง และ เก็บเกี่ยวมากในเดือนมี.ค.- เม.ย. ประมาณ 80% ขณะที่การจำหน่าย ผลผลิตส่วนใหญ่ อยู่ในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงตามสัญญาในด้านคุณภาพ ราคาประกัน ฤดูฝน 14.00 บาทต่อกก. และฤดูแล้ง 11.80 บาทต่อกก. ซึ่งราคาที่เกษตรกรขายได้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 12 – 14 บาทต่อกก. ทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ด้านการตลาดในปีที่ผ่านมา พบว่า มีความต้องการใช้ 185,00 ตัน  ซึ่งผลิตได้ในประเทศ 111,000 ตัน  คิดเป็น 60% และนำเข้า 75,000 ตัน คิดเป็น 40%โดยภาคเอกชน ผู้ประกอบการมีเป้าหมายที่จะขยายกำลังการผลิตเพื่อขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะขยายทุกปี ๆละอย่างน้อย 10%  ทั้งนี้ ในปี 2570 คาดว่าจะมีความต้องการมันฝรั่งเพื่อแปรรูป เพื่อบริโภคในประเทศและการส่งออกถึงประมาณ 280,000 ตัน 

ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสของเกษตรกรในการขยายการผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน ในด้านของการขยายพื้นที่เพาะปลูก และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการลดต้นทุนหลักจากค่าปุ๋ยและค่าหัวพันธุ์ โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดโครงการเพื่อสนับสนุน ดังนี้ 

โครงการ 1 ลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี  วิจัย เปรียบเทียบการปลูกมันฝรั่งระบบน้ำหยด ควบคู่กับปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ลดการใส่ปุ๋ยเคมี กับการเพาะปลูกปกติ โดยมอบหมายกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน คัดเลือกพื้นที่ในจังหวัดตาก และทำการทดลองปลูกในช่วงฤดูฝน ของปี 2566

โครงการที่ 2  ลดต้นทุนค่าหัวพันธุ์ ผลักดันการใช้หัวพันธุ์ในประเทศเพิ่มขึ้น ลดการนำเข้าหัวพันธุ์จากต่างประเทศที่มีราคาสูง และเสี่ยงต่อโรคระบาดของพืชติดมาด้วย และกระจายหัวพันธุ์มันฝรั่งให้เกษตรกร โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร เพิ่มการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งในประเทศ โดยนำร่องในจังหวัดตาก

โครงการที่ 3 การขยายพื้นที่ปลูกมันฝรั่งภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายขยายพื้นที่เพาะปลูก 30,000 ไร่ เฉลี่ยปีละ 10,000 ไร่ ใน 9 จังหวัด ในภาคเหนือ 7 จังหวัดและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก สกลนคร และนครพนม โดยให้มีการเพาะปลูก ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2566 – มีนาคม 2567

โครงการที่ 4 ยกร่างการเกษตรพันธสัญญาด้านมันฝรั่ง เพื่อส่งเสริมการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตมันฝรั่งระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกกับบริษัทผู้ผลิตและภาคเอกชน ให้ครอบคลุมและได้ราคาเป็นธรรม โดยมอบหมายสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ดำเนินการยกร่างและประสานหารือแนวทางการจัดทำเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และภาคเอกชน ผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินงานการขยายพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งปีละ 10,000 ไร่ มีประสิทธิภาพเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ที่ประชุมได้มอบหมาย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการอำนวยความสะดวก สนับสนุนเพิ่มเติม อาทิ

  • กรมพัฒนาที่ดิน  ด้านโครงการสร้างดิน ปุ๋ย ระบบน้ำสำหรับการเพาะปลูกมันฝรั่ง
  • กรมส่งเสริมการเกษตร ด้านการส่งเสริมการผลิต และการแก้ไขปัญหาการเกิดโรคในมันฝรั่ง
  • กรมวิชาการเกษตร  ด้านการวิจัยพันธุ์มันฝรั่ง และการพัฒนาปุ๋ยคุณภาพสูง
  • กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์  ด้านการส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร และการจัดทำบัญชี

พร้อมทั้งสำรวจจำนวนห้องเย็นที่มีอยู่ในพื้นที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)  ด้านสนับสนุนงบประมาณการวิจัย ศึกษา ทดลอง การปลูกมันฝรั่ง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  ด้านการติดตามประเมินสถานการณ์การผลิต การตลาด ต้นทุนและความคุ้มค่าของการปลูกมันฝรั่ง เป็นต้น

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.nationtv.tv/economy-business/378916744