ค้นหา

3 หน่วยงาน ร่วมยกร่างเกณฑ์จัดแบ่งเกรดโรงคัดบรรจุทุเรียน ย้ำคุมเข้มใช้บทลงโทษ หากตัด ส่ง ขาย ‘ทุเรียนอ่อน’

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมการค้าภายใน สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย
เข้าชม 302 ครั้ง

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เชิญ อธิบดีกรมการค้าภายในสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย ยกร่างเกณฑ์ในการจัดแบ่งเกรดโรงคัดบรรจุ เขียว เหลือง แดง ย้ำเตือนข้อกำหนด ตาม ระเบียบ และประกาศกรมวิชาการเกษตร รวมถึง บทลงโทษต่างๆ

​นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดบ้านรับ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และนายไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาคมผู้ส่งออกลำไยภาคตะวันออก ยกร่างเกณฑ์ในการจัดแบ่งเกรดโรงคัดบรรจุ เขียว เหลือง แดง ย้ำเตือนข้อกำหนดตามระเบียบกรมวิชาการเกษตร ว่าด้วยการรับรองแหล่งผลิตพืชตามมาตรฐาน ระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช พ.ศ. 2555 และ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช รวมถึง ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียน โรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2563

“กรมวิชาการเกษตร ขานรับนโยบาย นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการทุกภาคส่วน คุมเข้มทุเรียนภาคตะวันออก เน้นการทำงานร่วมกันของ 3 ประสานเจ้าของสวน แปลงต้องผ่านมาตรฐาน GAP เข้มงวดวันตัด ไม่ตัดทุเรียนอ่อน  มือตัด ขอความร่วมมือ ให้เข้ารับการฝึกอบรมขึ้นทะเบียนนักคัด นักตัดทุเรียน ล้ง กรณีพบทุเรียนอ่อน ล้งต้องไม่รับซื้อ ซึ่งการทำงานร่วมกันของทั้ง 3 ประสานจะนำทุเรียนไทย ไปสู่ทุเรียนคุณภาพ ระดับโลก

เกณฑ์ในการแบ่งเกรดโรงคัดบรรจุ กรมวิชาการเกษตร จำแนกเกรด จากการติดตามการบริหารจัดการและพฤติกรรมของล้งที่ผ่านมา

🟢​ ล้งสีเขียว ไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนศัตรูพืช/สารพิษตกค้าง จากประเทศคู่ค้า และไม่พบข้อร้องเรียนกรณีซื้อผลผลิตด้อยคุณภาพ มีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพผลผลิต ศัตรูพืช สารพิษตกค้าง เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งด้วยตัวเอง พร้อมแสดงหลักฐาน มีมาตรการป้องกัน Covid -19 มีจุดตรวจพืช มีจุดตรวจความสุกแก่ทุเรียน มีจุดตรวจการขึ้นทะเบียนมือตัดทุเรียน มีป้ายประชาสัมพันธ์ “ไม่รับซื้อทุเรียนอ่อน” ติดบริเวณหน้าล้ง  ให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าตรวจสอบคุณภาพเป็นอย่างดี ผลการตรวจสอบเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของทุเรียน เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือ ด้อยคุณภาพ ไม่เกินร้อยละ5  ล้งสีเขียว จะได้รับการประชาสัมพันธ์รายชื่อล้งสีเขียว มอบเกียรติบัตรให้แก่ล้งที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเยี่ยมและ สุ่มตรวจทุก 10 วัน

🟡 ล้งสีเหลือง ไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนศัตรูพืช/สารพิษตกค้าง จากประเทศคู่ค้า และไม่พบข้อร้องเรียนกรณีซื้อผลผลิตด้อยคุณภาพ มีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพผลผลิต ศัตรูพืช สารพิษตกค้าง เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งด้วยตัวเอง พร้อมแสดงหลักฐาน มีมาตรการป้องกัน Covid -19 มีจุดตรวจพืช มีจุดตรวจความสุกแก่ทุเรียน มีจุดตรวจการขึ้นทะเบียนมือตัดทุเรียน มีจุดตรวจการขึ้นทะเบียนมือตัดทุเรียน ไม่มีป้ายประชาสัมพันธ์ “ไม่รับซื้อทุเรียนอ่อน” ติดบริเวณหน้าล้ง  ให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าตรวจสอบคุณภาพเป็นอย่างดี ผลการตรวจสอบเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของทุเรียน เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือ ด้อยคุณภาพ ไม่เกินร้อยละ 5-10 ล้งสีเหลือง หากมีการแก้ไขปรับปรุงให้ครบถ้วนตามเกณฑ์ ปรับเป็นสีเขียว แต่หากไม่ปรับปรุง ปรับเป็นสีแดง และสุ่มตรวจทุก 5 วัน

🔴 ล้งสีแดง  ได้รับการแจ้งเตือนศัตรูพืช/สารพิษตกค้าง จากประเทศคู่ค้า และไม่พบข้อร้องเรียนกรณีรับซื้อผลผลิตด้อยคุณภาพ ไม่มีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ ผลผลิต ศัตรูพืช สารพิษตกค้าง เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งด้วยตัวเอง และไม่แสดงหลักฐาน ไม่มีจุดตรวจการขึ้นทะเบียนมือตัดทุเรียน ไม่มีป้ายประชาสัมพันธ์  “ไม่รับซื้อทุเรียนอ่อน” ติดบริเวณหน้าล้ง  ไม่ให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าตรวจคุณภาพเป็นอย่างดี  ผลการตรวจสอบเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของทุเรียน ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือด้อยคุณภาพเกินกว่าร้อยละ 10 ล้งสีแดง หากไม่มีการปรับปรุงให้เป็นไปตามเกณฑ์ และผลตรวจแย่ลง จะมีการพิจารณา พักใช้ ยกเลิก หรือเพิกถอน ใบ DOA ตามระดับความร้ายแรงของการกระทำความผิด และต้องตรวจ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดิม

มาตรการป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนและการสวมสิทธิ์ใบ GAP  ถ้าสวนใดได้รับการแจ้งเตือนปัญหาศัตรูพืช ทาง สวพ. 1-8 ที่เกี่ยวข้อง จะมีหนังสือแจ้งให้สวนตรวจสอบปัญหาภายในกำหนด และส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจติดตาม หากไม่ปฏิบัติตาม จะถูกพักใช้ไป GAP  ส่วนการเพิกถอน ใบ GAP สาเหตุจาก ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2555 และส่งผลต่อร้ายแรงการรับรอง (เช่น การสวมสิทธิ์ใบGAP) ใช้ ครอบครอง หรือผลตรวจวิเคราะห์พบวัตถุอันตรายประเภท 4 หรือถูกสั่งพักใช้ใบ GAP เกิน 2 ครั้ง หรือ มีการร้องเรียนผลกระทบที่ร้ายแรง จะถูกเพิกถอนใบ GAP และ ถูกเผยแพร่ชื่อเกษตรกร

มาตรการระงับ ใบ DOA ของโรงคัดบรรจุ อันเกิดสาเหตุจาก การไม่แก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องตามที่รับแจ้งภายใน 90 วัน ผลการตรวจติดตาม/ได้รับการแจ้งเตือนจากประเทศผู้นำเข้าด้านความปลอดภัยทางอาหาร 3 ครั้งภายใน 90 วัน (นับตั้งแต่ได้รับการแจ้งเตือนครั้งที่ 1) การไม่ให้ความร่วมมือหรือปฏิเสธการเข้าตรวจติดตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควรติดต่อกัน 2 ครั้ง นำการขึ้นทะเบียนไปใช้หรืออ้างอิงในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรืออาจทำให้เข้าใจผิดในการได้รับขึ้นทะเบียน มีบทลงโทษ โดยจะระงับหนังสือสำคัญในการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (ใบ DOA) จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร 

ส่วนมาตรการระงับหรือยกเลิกใบ DOA สาเหตุจาก ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร หรือได้รับการแจ้งเตือนจากประเทศผู้นำเข้าเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ หรือส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศโดยส่วนรวม หรือมีข้อผูกพันทางการค้ากับประเทศผู้นำเข้า จะถูกระงับหรือยกเลิกหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช(ใบ DOA)

​ทุเรียนส่งออกทุกชิปเม้นท์ จะต้องผ่านการตรวจใบรับรอง GAP ที่ออกโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6  โดยด่านตรวจพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรณีสงสัยที่มาของทุเรียนจะประสาน สวพ. ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเกษตรกรเจ้าของ GAP เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ และ ผู้ประกอบการ GMP กรมวิชาการเกษตรมีทีมคณะทำงานเฉพาะกิจคุณภาพผักและผลไม้ไทย เพื่อร่วมตรวจสอบทันทีจำนวนแปลงกับจำนวนผลผลิตต้องสอดคล้องกัน ซึ่งทั้งสองกรณีย้ำว่า หากกรมวิชาการเกษตรตรวจเจอจะไม่อนุญาตให้ส่งออก ชุดเฉพาะกิจมีอำนาจในการสั่งพักใช้ เพิกถอนใบรับรอง หรือระงับยกเลิกหนังสือแสดงการขึ้นทะเบียนของสวนและโรงคัดบรรจุ

ในส่วนการของตรวจปิดตู้เพื่อส่งออก สำนักควบคุมพืชและวัสดุทางการเกษตร ได้จัดเพิ่มกำลังนายตรวจเพิ่มขึ้นจาก 30 คนเป็น 60 คน เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจคุณภาพทุเรียน และ ขยายเวลาปิดตู้จาก 20.00 น เป็น 22.00 น ซึ่งหากให้เจ้าหน้าที่ตรวจหลังเวลา 22.00 น ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนเวลา 18.00 น

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า “การประชุมร่วมกันของทั้ง 3 ฝ่าย กรมวิชาการเกษตรได้เชิญหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ผู้อำนวยการสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง กงสุลฝ่ายเกษตร นครเซี่ยงไฮ้ กงสุลฝ่ายเกษตร นครกว่างโจว สวพ.1-8 ด่านตรวจพืชทุกด่านเข้าร่วม เพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน และเน้นย้ำนโยบายอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้บริหารทุกระดับได้ลงพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อตรวจติดตามงาน และสร้างขวัญกำลังใจ  

อธิบดีกรมการค้าภายในเน้นย้ำ การนำข้อเท็จจริง มาทำงานร่วมกัน ทั้งมาตรการต่างๆ และ การแจ้งเบาะแส ทั้งการสวมสิทธิ์ในต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งทูตพาณิชย์ และ ทูตเกษตร จะลงไปช่วยแก้ปัญหา แม้กระทั่ง แจ้งเบาะแสการสวมสิทธิ์ในประเทศ ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน “1569” เพื่อสร้างทีม Thailand ในการช่วยให้การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย มากที่สุด

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.agrinewsthai.com/news/59434