ค้นหา

เกษตรกร อ.เสิงสาง ปลูกปอเทืองปรับสภาพดินในนา แทนเผาตอซังข้าวลดฝุ่น PM 2.5

นายสถิต อุบลรัตน์ และนายธิติพัทธ์ ชัญถาวร
เข้าชม 335 ครั้ง

เกษตรกรที่ ต.กุดโบสถ์ โคราช หันมาปลูกปอเทืองในแปลงนาปรับสภาพดินแล้วไถกลบ ตามคำแนะนำของเกษตรอำเภอเสิงสาง แทนการเผาตอซังข้าว ช่วยลดฝุ่นควันมลพิษ และ PM 2.5 อีกทั้งเพิ่มปุ๋ยพืชสดรองพื้นด้วย

เกษตรกรในตำบลกุดโบสถ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ได้หันมาปลูกปอเทืองเพื่อแทนการเผาตอซังข้าวในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว ตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเสิงสาง ที่เข้ามาสนับสนุนดูแล เพื่อช่วยกันลดปัญหาหมอกควันมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มักจะพุ่งสูงเกินค่ามาตรฐานในช่วงหน้าแล้ง

เนื่องจากหมอกควันฝุ่น PM 2.5 จึงเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในขณะนี้ เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยส่วนใหญ่เกิดจากการเผาซากพืชผลทางการเกษตร เพื่อจะเตรียมแปลงเพาะปลูก, การเผาขยะในที่โล่งแจ้ง, ควันพิษจากการคมนาคมขนส่ง, ฝุ่นควันจากโรงงานอุตสาหกรรม, การเกิดอัคคีภัย การเผาป่า และไฟป่า เป็นต้น จึงต้องเร่งช่วยกันรณรงค์ป้องกันและควบคุม ลดค่าฝุ่นมลพิษลงให้ได้

นายสถิต อุบลรัตน์ อายุ 45 ปี เกษตรกรบ้านกุดโบสถ์ ต.กุดโบสถ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ตนเองมีพื้นที่เพาะปลูกพืชและทำนาทั้งสิ้น 10 ไร่ ทุกๆ ปี หลังจากการเก็บเกี่ยวจะต้องไถปรับหน้าดิน แต่มักประสบปัญหาไถดินไม่เข้า เพราะตอซังข้าวขึ้นสูงและเหนียว จึงต้องเผาตอซังก่อนเริ่มทำการเพาะปลูกรอบใหม่ แต่การเผาตอซังก็ทำให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศ และทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง ตนจึงคิดจะหยุดการเผาและหาวิธีแก้ไขปัญหา โดยไปปรึกษากับเกษตรอำเภอเสิงสาง จนนำไปสู่การปลูกปอเทืองในแปลงข้าว แทนการเผาตอซัง โดยผลออกมาดีมากในแปลงนาที่ปลูกปอเทือง เวลาไถกลบจะได้ปุ๋ยพืชสด วัชพืชไม่สามารถงอกเงยได้ แถมปอเทืองช่วยปรับสภาพดิน ทำให้ดินร่วนซุย และตอซังข้าวก็ถูกย่อยสลายปุ๋ยในดิน ซึ่งทำให้การไถก่อนปลูกทำได้ง่ายมากขึ้น ตอนนี้จึงไม่ต้องเผาเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

ด้าน นายธิติพัทธ์ ชัญถาวร เกษตรอำเภอเสิงสาง กล่าวว่า ทางสำนักงานเกษตรอำเภอฯ กำลังเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ลดการเผา และหันมาใช้ปุ๋ยพืชสดแทน เช่น การปลูกปอเทือง เพราะมีอายุสั้น เพียงแค่ 40-45 วัน ก็สามารถไถกลบได้แล้ว และการปลูกปอเทืองในแปลงนาพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้เมล็ดปอเทืองมาปลูก แค่ 5 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งหาซื้อได้ทั่วไป หรือขอได้ที่สถานีพัฒนาที่ดิน โดยหลังจากไถกลบแล้ว ก็จะกลายเป็นปุ๋ยพืชสด ได้มากถึง 2 ตัน ต่อ 1 ไร่ ช่วยลดต้นทุนซื้อปุ๋ยคอกมาใส่ในนาข้าว ซึ่งปกติจะต้องลงทุนซื้อมาถึง 1 ตันต่อไร่ เกษตรกรจึงลดรายจ่ายเรื่องปุ๋ยรองพื้นได้เป็นอย่างดี.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2655378