ค้นหา

ศกอ. ดีเด่น จังหวัดนครสวรรค์ ต้นแบบเกษตรผสมผสาน พัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12)
เข้าชม 344 ครั้ง

นายชายศักดิ์ วุฒิศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า เกษตรผสมผสานเป็นระบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยที่กิจกรรมแต่ละชนิดเกื้อกูลกันอย่างเป็นวงจร มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นาอย่างเหมาะสมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจากตัวอย่างของเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) จังหวัดนครสวรรค์ คือ นายฐิติโชค คำไทย เกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในการทำเกษตรผสมผสาน และได้พัฒนาพื้นที่ของตนเองเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ มีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเกษตรกรและผู้ที่สนใจทั้งในและนอกพื้นที่ เข้าศึกษาดูงานกว่าปีละ 800 คน

ปัจจุบันการทำเกษตรแบบผสมผสานของนายฐิติโชค ได้จัดสรรพื้นที่ จำนวน 31 ไร่ แบ่งออกเป็น นาข้าวปลอดสารพิษ จำนวน 5 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ กข 23 พืชผักสวนครัว จำนวน 2 ไร่ เพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน จำนวน 100 ตารางวา ด้านปศุสัตว์ จำนวน 100 ตารางวา แบ่งเป็น เลี้ยงไก่และเป็ดไข่ ด้านประมง จำนวน 150 ตารางวา โดยเลี้ยงปลาเพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่าย นอกจากนี้ พื้นที่ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 50 ตารางวา ยังปลูกไม้ประดับเพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลต่างๆ ซึ่งกิจกรรมหลักทางการเกษตรที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีคือ การทำนาข้าวปลอดสารพิษ โดยมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,766 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลตอบแทน 10,524 บาท/ไร่/รอบการผลิต คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 5,758บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคาขายเฉลี่ยช่วงรอบเก็บเกี่ยวเดือนสิงหาคม 2565 ความชื้น 20% ราคาอยู่ที่ 9,500 บาท/ตัน

สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน นายฐิติโชคได้ใช้เทคโนโลยีรถดำนาและใช้โดรนในการเกษตร นอกจากนี้ ยังได้ทำการวิเคราะห์ค่าดิน เพื่อใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นลดการใช้ปุ๋ยบำรุงในส่วนที่ไม่จำเป็น และเลือกใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพดิน โดยจะใส่ปุ๋ยผสมกับจุลินทรีย์ที่จะช่วยเรื่องการดูดซับปุ๋ย และลดการใช้ปุ๋ยลงร้อยละ 25 และปรับเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีมาใช้สารชีวภัณฑ์ ลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ และการเผาตอซังข้าว เพื่อปรับปรุงดิน ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงและได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และปัจจุบันได้ต่อยอดเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น การสีข้าว แปรรูปสมุนไพร ผลิตภัณฑ์น้ำพริก เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วงนอกฤดูการผลิตยังมีรายได้จากการขายสินค้าจักสานและงาน ฝีมืออื่นๆ

จากความสำเร็จในการทำเกษตรแบบผสมผสาน สามารถต่อยอดไปจนถึงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในการประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายทั้งจากภาครัฐและเอกชน หากท่านใดสนใจข้อมูลหรือมีความประสงค์เข้าศึกษาดูงานสามารถติดต่อได้ที่ นายฐิติโชค คำไทย ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ โทร. 082-479-6561 ยินดีให้คำปรึกษาและต้อนรับทุกท่าน

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_241178