ค้นหา

วุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ต้นแบบแก้วิกฤตปุ๋ยแพง ใช้ปุ๋ยขี้หมู ลดปุ๋ยเคมี 50%

คุณวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์
เข้าชม 423 ครั้ง

ผู้เขียน กาญจนา จินตกานนท์

ท่ามกลางวิกฤตปุ๋ยแพงและปริมาณทุเรียนที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น การแข่งขันจะมีผลต่อราคาที่ปรับลง ขณะที่เกษตรกรต้องแบกภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตั้งแต่ปลายปี 2564 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และยังไม่แน่ใจในอนาคตว่าจะมีการปรับราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ บรรดาเกษตรกรได้หาทางออกเพื่อลดต้นทุนการผลิตจากการพึ่งพาปุ๋ยเคมี 100% แม้แต่เกษตรกรรายใหญ่ได้กลับมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากภูมิปัญญาดั้งเดิมผสมผสานกับปุ๋ยเคมี และพบว่าได้ผลผลิตมีคุณภาพ ดีกว่าใช้ปุ๋ยเคมี 100% และลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ถึง 50%

คุณวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ เกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ ที่อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด มีประสบการณ์การทำสวนมามากกว่า 30 ปี และหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีได้ผลมาร่วม 10 ปี พร้อมที่จะเป็นต้นแบบขยายผลให้เกษตรกรทั่วไป

ประสบการณ์ทำสวนกว่า 30 ปี

คุณวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ จบปริญญาตรี สาขาพืชสวน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2522 สร้างสมประสบการณ์เรื่อยมาทั้งสวนส้ม สวนปาล์ม ยางพารา และมาถึงปัจจุบันทำสวนทุเรียน เงาะ มังคุด ประมาณ 300-400 ไร่ ที่จังหวัดตราด ส่วนใหญ่เป็นทุเรียน ที่ผ่านมาเคยนั่งตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดตราดมา 2 วาระ และปัจจุบันยังคงเป็นประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออกจังหวัดตราด จำกัด และกรรมการหอการค้าไทย

คุณวุฒิพงศ์ เล่าถึงการทำเกษตรกรรมหรือทำสวน ไม่ว่าจะเป็นสวนอะไร ความเหมาะสมตามธรรมชาติคือ สภาพดิน สภาพภูมิอากาศ และความจำเป็นคือการใช้ปุ๋ย น้ำ ธาตุอาหารเสริม ส่วนใหญ่ชาวสวนมักจะให้น้ำ ให้ปุ๋ยเกินความต้องการของพืช เพราะคาดว่าจะให้ผลผลิตได้สูง จากประสบการณ์ดูงานที่อิสราเอล เมื่อ 30 ปีที่แล้วได้นำระบบการให้น้ำที่แม่นยำ ใช้น้ำน้อย เกิดประสิทธิภาพสูงมาใช้กับสวนผลไม้ ทุเรียน เงาะ มังคุด ทั้งระบบการให้น้ำและปุ๋ย โดยต่อหัวสปริงเกลอร์ติดตั้งกับท่อยางที่วางพาดผ่านต้นไม้ระยะสูงจากพื้นดิน 30-40 เซนติเมตร การติดหัวเหวี่ยงสปริงเกลอร์เหวี่ยงอยู่ในระยะปลายทรงพุ่มตรงบริเวณปลายรากที่ดูดรับน้ำและปุ๋ย ถ้าเป็นทุเรียนอายุ 5-6 ปี ระยะห่างที่ให้น้ำประมาณ  5-6 เมตร ระบบนี้จะช่วยลดปริมาณการสิ้นเปลืองน้ำได้ 2-3 เท่า และช่วยประหยัดปุ๋ยเช่นเดียวกัน การดูแล ซ่อมแซมสะดวกกว่าการการติดตั้งสปริงเกลอร์กับท่อพีวีซีที่ต่อเชื่อมจากท่อใหญ่ที่ฝังในพื้นดิน

“การรดน้ำต้องให้พอดีที่ต้นไม้นำไปใช้ประโยชน์ ถ้าใช้หัวสปริงเกลอร์ใหญ่ติดตั้งกับท่อพีวีซี เมื่อให้น้ำมากดินรับไม่ไหว รดแค่ 10-20 นาที น้ำนองแต่ซึมลงดินน้อย ที่เหลือไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถ้าใช้ท่อยางติดหัวสปริงเกลอร์เหวี่ยงได้ระยะปลายรากส่วนที่จะดูดน้ำให้ต้น ตามขนาดอายุของต้น ต้นเล็กใช้เวลา 10-20 นาที ต้นใหญ่ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง โดยให้น้ำพร้อมๆ กันทั้งแปลง น้ำจะซึมลงดินทั้งหมด” คุณวุฒิพงศ์ กล่าว

คุณวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ชี้ให้เห็นสภาพดินที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทุกชนิด

“น้ำขี้หมู” ปุ๋ยอินทรีย์ผสมผสานปุ๋ยเคมีผลผลิตดี ลดการใช้ปุ๋ยเคมี 50%   

แรกๆ ทำสวนแต่ละปีต้องใช้เงินซื้อปุ๋ยเคมีราคาเป็นแสนๆ บาท ได้ปริมาณน้อย เมื่อประมาณ 8-9 ปีมานี้ เห็นชาวสวนด้วยกันนำขี้หมูใช้รดสวนผลไม้ได้ผลดี จึงนำมาใช้กับสวนทุเรียน มังคุด เงาะบ้าง ประกอบกับมีฟาร์มหมูที่อยู่ไม่ไกลจากสวนมากนัก ทำให้บริหารจัดการการขนส่งสะดวก โดยขี้หมูเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้ผสมผสานกับปุ๋ยเคมี ที่ปกติใส่ปีละ 3-4 ครั้งอยู่แล้ว  ต้นไม้เติบโตแข็งแรง ให้ผลดกสม่ำเสมอ และคุณภาพสมบูรณ์ดีทุกปี ลบความเชื่อเดิมๆ ของชาวสวนที่ว่า ผลไม้จะดกปีเว้นปี เพราะผลไม้ถ้าแข็งแรงมีความสมบูรณ์สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้มากๆ ทุกปี

สวนทุเรียน

การทำสวนองค์ประกอบสำคัญคือดิน ต้นไม้เติบโตได้จากการใช้รากดูดธาตุอาหารต่างๆ จากดิน แต่เมื่อคนเราใช้ธาตุอาหารในดินมากเกินไป โดยเฉพาะการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือการปลูกทุเรียน เกษตรกรหวังผลผลิตเป็นแสนเป็นล้านจึงเร่งใส่ปุ๋ยเคมี ทำให้ธาตุอาหารลดลงมากอย่างรวดเร็ว ต้องเติมธาตุอาหารบำรุงคือปุ๋ยเคมีชนิดต่างๆ ซึ่งมีธาตุอาหารหลักๆ แต่ธาตุอื่นๆ มีไม่ครบตามที่พืชต้องการ ถ้าใช้ขี้หมูมีธาตุไนโตรเจนสูง ธาตุหลักอื่นๆ มีน้อย แต่มีธาตุรองครบทุกอย่าง เพียงแต่ไม่เข้มข้นเท่าปุ๋ยเคมี ดังนั้น ความเหมาะสมโดยใช้ผสมผสานกันไปทั้งปุ๋ยเคมีและอินทรีย์ ลดเคมีให้น้อยลง เปลี่ยนสูตร ใช้ไนโตรเจนและธาตุอาหารรองจากธรรมชาติ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาปุ๋ยเคมีปัจจุบันที่ราคาแพงขึ้นถึง 2-3 เท่า จากกระสอบละ 500-700 บาท เป็น 1,500-2,000 บาท ปีหนึ่งเราใส่ปุ๋ยเคมี 3-4 ครั้ง และยังใส่ปุ๋ยชีวภาพ ใช้สารเร่งฮอร์โมนอีก ถ้าใช้ปุ๋ยขี้หมูที่เป็นปุ๋ยอินทรีย์ช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 50% และจะช่วยลดค่าใช้จ่ายปุ๋ยเคมีได้ประมาณ 20-30% ความสำคัญกว่านั้นคือช่วยเสริมธาตุอาหารทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ในระยะยาว

กระบวนการนำขี้หมูมาใช้ผลผลิตสม่ำเสมอทุกปี

ฟาร์มเลี้ยงหมูปัจจุบันเลี้ยงระบบปิด มีการตรวจป้องกันเชื้อโรคและมีการทำความสะอาดฟาร์มที่ต้องบำบัดถ่ายเทของเสียทิ้งอยู่แล้ว ดังนั้น ฟาร์มที่ได้มาตรฐานจะมีกระบวนการต่างๆ เริ่มจากการระบบทำความสะอาด ฉีดน้ำล้างทำความสะอาดโรงเรือนเลี้ยงหมู สิ่งปฏิกูล ขี้หมู ปัสสาวะจะถูกชะล้างลงท่อไปสู่ “บ่อหมักแก๊ส” ใช้ระยะเวลา 2-3 เดือน เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายของเสียเป็นน้ำ และถ่ายเทไว้ในบ่อพักน้ำนำไปใช้ทางการเกษตรรดต้นไม้ ถ้าอยู่ใกล้ๆ บ่อพักน้ำติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำต่อท่อไปรดในแปลงได้เลย

บ่อหมักแก๊ส

หลังการเก็บเกี่ยวและตกแต่งกิ่งการเตรียมต้นเพื่อผลผลิตฤดูกาลต่อไป บางรายที่เป็นสวนผลไม้ชนิดเดียว อยู่ในโซนติดทะเลอาจทำทุเรียนออกก่อนฤดูจะมีเวลาเก็บเกี่ยวเร็วและเตรียมต้นให้สมบูรณ์ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน แต่เกษตรกรที่ต้องทำผลไม้หลายชนิดและอยู่ในโซนทั่วไป มีเวลาเตรียมต้นกันประมาณเดือนกรกฎาคม ต้องสร้างความสมบูรณ์ต้น เพื่อกระตุ้นให้สร้างใบ พัฒนาไปสู่การออกดอก ติดผล และการเติบโตของผลไปถึงการเก็บเกี่ยวพฤษภาคม-มิถุนายน การให้น้ำต้องให้เหมาะสมกับอายุ สิ่งแวดล้อม และพัฒนาการของพืชที่มีความต้องการน้ำต่างกัน น้ำขี้หมูเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ใส่ได้ตลอดเวลาเหมือนการรดน้ำ ต้องดูให้สัมพันธ์กันกับการให้น้ำ ทุเรียนเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากระยะแรกๆ ที่เตรียมต้นให้ 7-15 วันต่อครั้ง หรือทุกวัน แต่ตอนแตกใบอ่อนก่อนออกดอกต้องลดปริมาณลง และไปต้องการปริมาณน้ำมากช่วงพัฒนาการของดอกและการเติบโตของผล จนกระทั่งผลแก่ การใช้ปุ๋ยเคมีจะใช้ควบคู่ไปตามปกติ 3-4 ครั้ง ที่ให้ผลคุ้มค่ามากคือปุ๋ยขี้หมูนี้มีผลให้แร่ธาตุในดินอุดมสมบูรณ์ในระยะยาว

บ่อพักน้ำ

ชาวสวนติดปัญหาการขนย้ายขอหน่วยงานรัฐช่วย

จริงๆ แล้วเกษตรกรชาวสวนรู้ถึงข้อดีน้ำขี้หมูกันมานานแล้ว แต่ติดขัดระบบการบริหารจัดการ 2 เรื่อง คือ ระบบข้อมูลของฟาร์มที่พร้อมให้เกษตรกรได้เข้าถึงนำไปใช้ เพราะปกติเป็นของเสียที่เจ้าของต้องการกำจัดทิ้งอยู่แล้ว ควรมีรายชื่อข้อมูลฟาร์มแจ้งเกษตรกร และระบบการขนส่งที่สะดวก ประหยัด เพื่อช่วยเกษตรกรรายย่อย เพราะการนำน้ำขี้หมูมารดต้นไม้ในสวนต้องขนย้ายจากฟาร์มมีเครื่องมือเพิ่มขึ้น ต้องใช้รถบรรทุกน้ำไปดูดน้ำมาจากบ่อพักน้ำ ใช้ถังบรรจุขนาดใหญ่ 1,000 ลิตร เมื่อนำมาใช้ที่สวนต้องมีเครื่องสูบน้ำขนาดเล็กสูบน้ำจากถังต่อสายยางไปรดที่ต้นไม้ ควรออกแบบเครื่องมือแบบง่ายๆ ใช้ระบบการขนส่งและการนำมาใช้สะดวก ด้วยราคาประหยัด 10,000-20,000 บาท เช่น รถเทเลอร์บรรทุกถังปุ๋ย 2-3 ถัง พ่วงกับรถบรรทุกเล็กอย่างปิกอัพที่ชาวสวนมีใช้กัน เพื่อความสะดวกและคุ้มค่าในการขนย้ายแต่ละครั้ง ถ้าจังหวัดส่งเสริมให้สถาบันอาชีวะช่วยคิดออกแบบให้สะดวกขึ้น คาดว่าน่าจะขยายผลสู่เกษตรกรได้ในวงกว้าง สอดคล้องกับการเกษตรกรแบบ BCG เรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้นแบบการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

โรงเรือนเล้าหมู

“ประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์ที่มีประโยชน์คุ้มค่ากว่าการใช้ปุ๋ยเคมี ท่ามกลางสถานการณ์ที่ปุ๋ยมีราคาแพงและตั้งรับการแข่งขันของตลาดทุเรียนในภายในประเทศและเพื่อนบ้านระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ที่ปริมาณทุเรียนจะออกมากมหาศาล” คุณวุฒิพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสวนปุ๋ยอินทรีย์ต้นแบบ สอบถาม คุณวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ โทร. 085-432-0230

สูบน้ำจากบ่อพักน้ำ

วิจัยปุ๋ยขี้หมู

คุณชยุทกฤดิ นนทแก้ว เกษตรจังหวัดตราด กล่าวว่า คุณชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ตั้งเป้าหมายใช้สวนคุณวุฒิพงศ์ เป็น “โมเดลน้ำขี้หมูแก้วิกฤตปุ๋ยแพง”

มีโครงการขยายต้นแบบในจังหวัดตราด รองรับปัญหาปุ๋ยเคมีแพงและผลผลิตทุเรียนจำนวนมาก โดยมีแกนนำเครือข่ายคือ ปศุสัตว์รวบรวมฟาร์มหมูในจังหวัดตราด มี 47 แห่ง เพื่อสำรวจความพร้อมที่จะให้บริการ สถานีพัฒนาที่ดินที่จะวิเคราะห์สภาพดินค่าความเป็นกรด-ด่าง ที่เหมาะสมกับการใช้ปุ๋ยขี้หมู และสถาบันอาชีวศึกษาที่จะช่วยออกแบบเครื่องบรรทุกขนส่งที่ช่วยให้เกษตรกรประหยัดและมีความสะดวก ขณะนี้ได้นำตัวอย่างดินและน้ำขี้หมูส่งให้ ดร.สุทิศษา ไชยกุล คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีจันทบุรี ตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารแล้ว เพื่อยืนยันธาตุอาหารและปริมาณที่มีอยู่จริงครอบคลุมพื้นที่ดินที่นำเป็นตัวอย่าง 15 ไร่ เมื่อนำไปขยายผลให้เกษตรกรสอดคล้องกับค่าวิเคราะห์ มีความแม่นยำตรงความต้องการของพืชในแต่ละช่วงของการเจริญเติบโต

คุณชยุทกฤดิ นนทแก้ว

“สวนเกษตรกรจังหวัดตราด ที่ใช้กันอยู่แล้วตอนนี้ที่เห็นผลชัดเจน มีสวนปาล์ม สวนมังคุด สวนทุเรียน สวนเงาะ ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 60-70% ประหยัดต้นทุนลงไปได้มาก ถ้ามีการขยายผลต้องวิเคราะห์สภาพดินก่อนนำไปใช้ ปุ๋ยเคมีบางตัวแทบไม่จำเป็นต้องใช้ เลือกใช้เฉพาะที่จำเป็นในแต่ละช่วงของพืช ซึ่งต้องให้ความรู้กับเกษตรกร ให้นำไปใช้ได้จริง พยายามเร่งให้ทันต้นฤดูกาลผลไม้เดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ เพื่อรองรับราคาปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงขึ้น เตรียมตัวรองรับกับราคาทุเรียนในอนาคตที่จะปรับลดลงมาก เพราะผลผลิตเพิ่มขึ้นมหาศาล ตลาดมีการแข่งขันสูง รวมทั้งพืชเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ด้วย แนวทางที่จะประสบความสำเร็จเกษตรกรต้องทำจริง ภาครัฐต้องสนับสนุนขยายผลให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด” คุณชยุทกฤดิ กล่าว

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_228803