ค้นหา

สร้างการเกษตรแม่นยำให้ชาวไร่อ้อย ด้วยอากาศยานไร้คนขับ

รศ.ดร.ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.มหิศร ว่องผาติ บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด
เข้าชม 100 ครั้ง

นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
รศ.ดร.ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบ Artificial Intelligence (AI)
บริษัท โกลบอล ครอปส์ จำกัด

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น : อ้อยเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ โดยเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลทรายและพลังงานทดแทน แต่ปัญหาที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยพบเจอและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้มาอย่างยาวนาน คือ “ต้นทุนในการผลิต” เช่น ค่าแรงงาน ค่าเครื่องจักร ค่าปุ๋ย และสารเคมี ที่สูงถึง 30-40% เมื่อเทียบกับรายได้จากผลผลิตอ้อยสด 1 ตัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีระดับสากลด้วยเช่นกัน

ความสำคัญของปัญหา :  เกษตรกรที่ปลูกอ้อยนั้นทราบถึงปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตและอยากลดรายจ่ายส่วนนี้ แต่ปัญหาคือที่ผ่านมายังไม่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใดๆ ที่เข้ามาช่วยเกษตรกรประเมินความเสี่ยงในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตในไร่อ้อยได้อย่างแม่นยำ อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญคือ การล้มของต้นอ้อย การเกิดโรคใบขาวของอ้อย ค่าความหวานของอ้อย การเจริญเติบโตที่ไม่สม่ำเสมอกัน หรือมีพื้นที่น้ำท่วมขัง อันส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของผลิตที่จะส่งโรงงานหีบอ้อย อีกทั้งการสำรวจด้วยแรงงานคนมีความคลาดเคลื่อนสูง เนื่องจากการสำรวจให้ครอบคลุมเป็นไปได้ยาก

จุดเด่นนวัตกรรม :
นักวิจัยร่วมกับภาคเอกชน พัฒนาระบบวิเคราะห์และแปลงผลภาพถ่ายทางอากาศที่ได้จากอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน เพื่อนำข้อมูลที่จำเป็นไปสู่ขั้นตอนของการวิเคราะห์และวางแผนการผลิต ช่วยลดความเสี่ยงในการจัดการไร่อ้อยของเกษตรหรือผู้ประกอบการ ซึ่งข้อมูลที่เป็นกุญแจของความแม่นยำของเทคนิคนี้ คือ
1. Crop Zoning ข้อมูลที่เกิดจาการทำวิจัยและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องของอาจารย์ในภาควิชาวิศวกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วยให้เกษตรกรตัดสินใจได้อย่างแม่นยำว่าพื้นที่นั้นควรปลูกพืชชนิดใด
2. Crop Dashboard ที่ระบุการเติบโตของพืชว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ สุขภาพของพืชเป็นอย่างไร เป็นโรค หรือต้องการปุ๋ยประเภทไหน หากไม่เป็นไปตามเกณฑ์จะต้องแก้ไขอย่างไร ทำให้เกษตรกรมีการวางแผนบริหารจัดการต้นทุนได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะถูกประมวลเป็นการคาดการณ์ผลผลิตในไร่ให้มีประสิทธิภาพ
3. Machine Dashboard คือ การประเมินข้อมูลที่เกิดจากการใช้เครื่องมือและแปรผลในเชิงประสิทธิภาพ

ภายโครงการนี้ มีการวิเคราะห์ภาพถ่ายจากโดรนของบริษัทฯ ที่ถ่ายด้วยกล้องอัลตราสเปกตรัมที่ทำให้ได้ภาพถ่ายแบบเดียวกับภาพถ่ายดาวเทียมแต่มีความละเอียดสูงกว่ามาก  ซึ่งการวิเคราะห์ค่าสีในสเปกตรัมต่างๆ  ทำให้เราได้สมการที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้มากกว่าค่าความหวานเพียงอย่างเดียว รู้ว่าอ้อยในพื้นที่ต่างๆ ได้รับน้ำเหมาะสมหรือไม่  มีอาการของโรคใบขาวของอ้อยเกิดขึ้นหรือไม่ หาค่าความสูงของต้นอ้อยและบอกได้ว่าแต่ละจุดมีการเติบโตที่เป็นไปตามเกณฑ์ ความสูงเฉลี่ยดีขึ้น เปอร์เซ็นต์อ้อยตายอ้อยงอกในแปลงเป็นอย่างไร โดยสามารถเปรียบเทียบกับภาพที่ถ่ายในครั้งก่อนๆ หรือปีก่อนได้อีกด้วย ที่สำคัญสามารถส่งภาพออนไลน์ที่ถ่ายจากโดรนมาใช้วิเคราะห์ และดูข้อมูลภาพรวมได้ทันที

ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
รศ.ดร.ขวัญตรี แสงประชาธนารักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ดร.มหิศร ว่องผาติ บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://pmuc.or.th/%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89/