นักวิจัย/เจ้าของนวัตกรรม/เจ้าของข้อมูล :
สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น : ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จ.ระยอง ได้ดำเนิน “หลักสูตรเกษตรนวัต” ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ติดตั้ง “โรงเรือนอัจฉริยะ” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดระยองและใกล้เคียง โดยการปลูก “มะเขือเทศ” สายพันธุ์ชายนี่ ควีน (Shiny Queen) พันธุ์นิลมณี และพันธุ์ออเร้นจ์ เป็นพืชหลัก และมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญการปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศของประเทศ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและลงมือปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่แค่การขุดหลุม ปรุงดินใส่ปุ๋ย หยอดเมล็ด รดน้ำ แต่เป็นการปลูกมะเขือเทศผลสดในระบบโรงเรือนที่ใช้เทคโนโลยีการติดตามและการควบคุมสภาวะแวดล้อม
ความสำคัญของปัญหา : โรงเรือนโดยทั่วไป ไม่สามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมภายในโรงเรือน ได้แก่ อุณหภูมิอากาศ ความชื้นอากาศ ความเข้มแสง และความชื้นดิน ระบบการควบคุมการให้น้ำและการให้ปุ๋ยอัตโนมัติตามความต้องการของพืชได้ การปลูกมะเขือเทศจะประสบปัญหาในเรื่องโรคและแมลงรบกวน โรคที่สำคัญที่พบคือโรคเหี่ยวเขียว โรคใบไหม้ โรคใบจุดจากแบคทีเรีย โดยเฉพาะโรคเหี่ยวเขียว เป็นโรคที่สร้างปัญหาทำให้ผลผลิตเสียหายมากถึง 30-100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังไม่มีสารเคมีในการกำจัดโรคนี้ การปรับเปลี่ยนการปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะ จึงเป็นแนวทางในการลดความเสียหายของผลผลิตมะเขือเทศได้เป็นอย่างดี
จุดเด่นนวัตกรรม :
เทคโนโลยีโรงเรือนอัจฉริยะช่วยให้การทำการเกษตรสะดวกขึ้น เกษตรกรประหยัดเวลา สามารถไปทำอย่างอื่นมากขึ้น แต่ต้องมีความรู้พื้นฐานด้านการเกษตรและต้องดูแลพืชที่ปลูกให้ดีด้วย เทคโนโลยีนี้จะทำให้เกษตรกรได้รับรู้ข้อมูลจากระบบการติดตามพืชและสามารถควบคุมสภาวะอากาศของโรงเรือนอัจฉริยะได้เป็นอย่างดี ข้อมูลที่ได้สามารถนำมาวิเคราะห์การเจริญเติบโตของมะเขือเทศในสภาวะแวดล้อมต่างๆ เพื่อบริหารจัดการปัจจัยการผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้น้ำหรือปุ๋ย ให้มีความเหมาะสมกับความต้องการของพืชในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะเป็นคลังข้อมูลสำคัญของการปลูกมะเขือเทศในระบบโรงเรือนให้กับประเทศ โดยโรงเรือนอัจฉริยะ อาจดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรไทย แต่สำหรับโลกที่กำลังขับเคลื่อนด้วยสมาร์ทเทคโนโลยี (smart technology) การเปิดรับเพื่อปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของภาคการเกษตรไทย
ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ :
ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์
222 หมู่ 1 ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง 21210