ค้นหา

“Aqua-IoT” นวัตกรรมดูแลสัตว์น้ำเพื่อเกษตรกรไทย

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เข้าชม 772 ครั้ง

นักวิจัย : ดร.ศุภนิจ พรธีระภัทร ทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล (DAT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา :

อุตสาหกรรมสัตว์น้ำเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศไทย การที่อุตสาหกรรมนี้จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้จำเป็นต้องอาศัยความเข้มแข็งในการผลิต ทั้งความเชี่ยวชาญของเกษตรกร รวมไปถึงการพัฒนายกระดับเทคโนโลยีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำให้สอดรับกับยุคเกษตร 4.0 ที่พร้อมรับความท้าทายและโอกาสในการแข่งขันในระดับโลกมากยิ่งขึ้น

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมยกระดับอุตสาหกรรมสัตว์น้ำไทยอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาระบบติดตามแจ้งเตือนสภาพบ่อเพาะเลี้ยงทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพด้วยเทคโนโลยี IoT หรือเรียกในที่นี้ว่า “Aqua IoT”

ดร.ศุภนิจ พรธีระภัทร นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล (DAT) NECTEC สวทช.

จุดเด่นนวัตกรรม :

ภายในชุดเทคโนโลยี Aqua-IoT ประกอบด้วยเทคโนโลยีหลัก 4 อย่าง 

  1. ระบบตรวจวัดสภาพน้ำและอากาศ ระบบตรวจวัดสภาพน้ำจะตรวจวัดอุณหภูมิ ค่าความเป็นกรด-ด่าง และค่าออกซิเจนละลายในน้ำ ส่วนระบบตรวจวัดสภาพอากาศจะตรวจวัดทิศทางและความเร็วลม ปริมาณแสง และปริมาณน้ำฝน ซึ่งข้อมูลภาพรวมจากระบบนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการคำนวณการเปิด-ปิดระบบตีน้ำและปริมาณอาหารที่เหมาะสม
ระบบตรวจวัดสภาพน้ำและอากาศ
 

2. ระบบกล้องตรวจจุลชีวะขนาดเล็กในน้ำ สำหรับตรวจสอบการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำในวัยอนุบาลและปรสิต

ระบบกล้องตรวจจุลชีวะขนาดเล็กในน้ำ

3. ระบบอ่านค่าสารเคมีแทนการดูด้วยตาสำหรับตรวจสอบคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยง ใช้แปลผลการตรวจจากชุดตรวจสารเคมี ได้แก่ ไนไตรต์ แอมโมเนีย คลอรีน ฟอสเฟต และค่ากรด-ด่าง เพื่อลดความผิดพลาดในการแปลผลด้วยวิธีปกติ ซึ่งใช้การเทียบสีที่ปรากฏบนชุดตรวจด้วยตาเปล่า

ระบบอ่านค่าสารเคมีแทนการดูด้วยตาสำหรับตรวจสอบคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยง

4. ระบบตรวจรูปแบบของจุลินทรีย์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สำหรับตรวจสอบจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และโทษ เพื่อนำข้อมูลไปปรับปริมาณจุลินทรีย์ในบ่อให้เหมาะสม โดยทีมวิจัยได้ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. นำชุดตรวจเชื้อก่อโรคทั้งในกุ้งและปลามาบูรณาการนำผลการตรวจเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลออนไลน์แบบอัตโนมัติด้วย เพื่อให้เกษตรกรตรวจสอบข้อมูลจากทุกอุปกรณ์และชุดตรวจได้ง่ายจากทุกที่ทุกเวลา ผ่านเว็บเบราว์เซอร์และระบบแจ้งเตือนทุกเช้า-เย็น ทางไลน์แชตบอต

ระบบตรวจรูปแบบของจุลินทรีย์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ปัจจุบันทีมวิจัยได้ถ่ายทอดชุดเทคโนโลยี Aqua-IoT ให้แก่บริษัทเอกชนเรียบร้อยแล้ว ค่าใช้จ่ายในการลงทุนระบบ Aqua-IoT อยู่ที่ประมาณ 200,000 บาทต่อบ่อ ซึ่งหากเทียบกับผลกำไรที่ได้จากการเพาะเลี้ยง การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและอาหารสัตว์ รวมถึงการลดความเสี่ยงในการสูญเสียผลผลิตจากการติดเชื้อหรือความไม่สมดุลในระบบเพาะเลี้ยง ถือว่าคุ้มค่าสูง และคืนทุนได้ตั้งแต่รอบการผลิตแรก

ดร.ศุภนิจ เสริมว่า นอกจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว ทีมวิจัยและผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยียังให้ความสำคัญเรื่องการขยายผลสู่การใช้งานจริง โดยได้ร่วมกันนำร่องถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์อุปกรณ์อย่างคุ้มค่า ให้แก่เกษตรกรในภาคตะวันออก ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานทีมงานได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำการทำงาน และร่วมแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกษตรกรต้องเผชิญ เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งมากพอที่จะยกระดับการทำเกษตรของตนเองได้อย่างยั่งยืน

ข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามที่ : 

● ระบบตรวจวัด ติดตาม แจ้งเตือน ค่าออกซิเจน (DO) ที่ละลายในน้ำแบบทันท่วงที

● เครื่องควบคุมเครื่องตีน้ำ (Bubble fit) + DO meter

ติดต่อ บริษัท มารีน ลีดเดอร์ จำกัด / บริษัท เทรดดิ้งเทค เอเชีย จำกัด ติดต่อ คุณสาธิต 081-565-6659

บริษัท Aquatic control ติดต่อ คุณนิธิวัฒน์ 081-733-2377

● สถานีวัดอากาศ (Weather Station) บริษัท ไรซิ่งซอร์ส จำกัด ติดต่อ คุณวิเชียร 089-776-4575

● ระบบอ่านค่าสารเคมีแทนการดูด้วยตาสำหรับตรวจคุณภาพน้ำบ่อเลี้ยงบริษัท มารีน ลีดเดอร์ จำกัด / บริษัท เทรดดิ้งเทค เอเชีย จำกัด ติดต่อ คุณสาธิต 081-565-6659

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.nstda.or.th/home/news_post/bcg-delight-aqua-iot/