ค้นหา

กรรมวิธีการเลี้ยงและผลิตไข่ไรแดง

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี
เข้าชม 1,137 ครั้ง
นักวิจัย : ดร.นุกูล แสงพันธุ์
ติดต่อนักวิจัย : 0-3559-5055-6, 0-3559-5875
รายละเอียดเทคโนโลยี :การเพาะเลี้ยงและผลิตไข่ไรแดงสยาม
ไรแดงสยาม (Moina siamensis (n. sp.) เป็นไรน้ำ ในสกุลเดียวกับไรแดง (Moina macrocopa) ซึ่งเป็นอาหารธรรมชาติที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและนิยมนำมาอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ไรแดงสยามเป็นสัตว์ชนิดใหม่ที่ค้นพบในปี 2550 มีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างจากไรแดงหลายประการ เช่น มีไข่ดกและสามารถควบคุมให้ผลิตไข่ได้อย่างต่อเนื่อง มีขนาดลำตัวเล็กกว่าไรแดงประมาณครึ่งหนึ่ง มีช่วงชีวิตที่ยาวกว่าไรแดง ไรแดงสยามสามารถเพาะเลี้ยงอย่างต่อเนื่องได้นานกว่าไรแดง

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุน วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี ดำเนินการศึกษาการผลิต ศักยภาพการนำไปใช้ประโยชน์ และต้นทุนการผลิตไรแดงสยาม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการผลิต และการใช้ประโยชน์ในลำดับต่อไป โดยผลการศึกษา พบว่าไรแดงสยามสร้างไข่พัก (resting egg) ได้ในสภาพการเลี้ยงปกติ โดยเลี้ยงไรแดงสยามให้เจริญเติบโตและมีจำนวนมากขึ้นจนมีความหนาแน่นทั่วทั้งบ่อ การควบคุมไรแดงสยามให้มีความหนาแน่นอย่างต่อเนื่องทำได้โดยการระบายน้ำลงบ่อเลี้ยงไรแดงสยามในปริมาณที่เหมาะสม วิธีการนี้ทำให้ไรน้ำสามารถผลิตไข่ได้ต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ได้ผลผลิตไข่จำนวน 404.87 ฟองต่อวันต่อพื้นที่ 26 ตารางเซนติเมตร นอกจากนี้ ยังพบว่าการช้อนตัวไรแดงสยามออกร้อยละ 10 – 30 ของพื้นที่บ่อเลี้ยงวันเว้นวัน จะทำให้ผลผลิตไข่สูงกว่าการเลี้ยงที่ไม่มีการช้อนตัวออก

การเลี้ยงไรแดงสยามสามารถใช้คลอเรลลาและน้ำมูลสุกรเป็นอาหารได้ การเลี้ยงด้วยน้ำมูลสุกรให้ผลผลิตตัวไรแดงสยามประมาณสองในสามถึงครึ่งหนึ่งของการเลี้ยงด้วยคลอเรลลา และได้ผลผลิตไข่ประมาณร้อยละ 20 ของการเลี้ยงด้วยคลอเรลลา ไข่ไรแดงสยามที่รวบรวมจากบ่อเลี้ยงมีอัตราการฟักมากกว่าร้อยละ 80 ส่วนไข่เมื่ออยู่ในสภาพแห้งจะมีอัตราการฟักลดลงตามระยะเวลา การเก็บรักษาไข่ไรแดงสยามไว้ในสภาพสุญญากาศที่อุณหภูมิ –20 องศาเซลเซียส และ 4 องศาเซลเซียส สามารถเก็บรักษาไข่ได้นานไม่น้อยกว่า 12 เดือน ไรแดงสยามมีโปรตีนร้อยละ 61.04 ไขมันร้อยละ 7.93 เถ้าร้อยละ 6.57 และมีกรดอะมิโนรวม 666.70 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักแห้ง 1 กรัม โดยมีกรดอะมิโนที่จำป็น (EEA) ครบทั้ง 10 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 46.96 ของกรดอะมิโนทั้งหมด ไรแดงสยามสามารถทนความเค็มในระยะสั้นที่ระดับ 10.2 ส่วนในพัน (part per thousand: ppt) ได้ไอย่างน้อย 30 นาที และทนความเค็มในระยะยาวที่ระดับ 6.6 ส่วนในพัน ได้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง ต้นทุนการเลี้ยงไรแดงสยามในบ่อขนาด 5×5×0.6 เมตร จำนวน 6 บ่อ คิดเป็นเงิน 9,300 บาทต่อเดือน เก็บผลผลิตไข่ไรแดงสยามได้ประมาณ 280 ล้านฟองต่อเดือน
ข้อมูลเทคโนโลยีสาขาเทคโนโลยี
เทคโนโลยีการเกษตร ปศุสัตว์และประมงวิธีการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ให้บริการคำปรึกษาสถานะผลงานวิจัย
เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอด
สนใจสอบถามข้อมูล
ดร.นุกูล แสงพันธุ์
โทรศัพท์สำนักงาน : 0-3559-5055-6, 0-3559-5875
สังกัด/ฝ่าย : วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี
หน่วยงาน :  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

คลิกเพื่อดาวน์โหลด

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : http://www.mosttech.most.go.th/viewtech.php?id=355