คุณวุฒิพงศ์ อยู่สุข หรือ ชายน้อย อยู่บ้านเลขที่ 790 หมู่ที่ 2 ตำบลเขาท่าพระ อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท อีกหนึ่งเกษตรกรรุ่นใหม่หันมาเพาะเห็ดฟางเป็นอาชีพเสริม หาเงินค่าขนมมาตั้งแต่สมัยเรียน ปวช.-ปวส. จนถึงปัจจุบันเรียนจบแล้วก็ยังไม่ทิ้งการเพาะเห็ด พร้อมทั้งทำควบคู่กับอาชีพค้าขายสร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัวต่อเดือนไม่น้อย
คุณชายน้อย เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเพาะเห็ดฟางให้ฟังว่า ตนเองเริ่มเพาะเห็ดฟางมาตั้งแต่สมัยเรียน ปวช.-ปวส. เพื่อหารายได้ค่าขนมระหว่างเรียน ด้วยปัจจัยที่เห็ดฟางขายง่าย ราคาดี และสามารถหาวัตถุดิบในการเพาะได้ง่ายในท้องถิ่น จึงเป็นสาเหตุทำให้ตนเองยึดอาชีพการเพาะเห็ดฟางเป็นอาชีพเสริมมานานกว่า 7 ปี ควบคู่ไปกับอาชีพค้าขาย ทำได้สบายๆ
“การเพาะเห็ดฟางในตะกร้านั้นค่อนข้างเป็นวิธีการที่เหมาะสำหรับทำเป็นอาชีพเสริมหรือเป็นเกษตรกรวันหยุดอยู่แล้ว ไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ ไม่ต้องใช้เวลาในการดูแลมากมาย ขอแค่เพียงมีเวลาช่วงเช้าและช่วงเย็น สัก 10-15 นาที ก็สามารถทำได้ ส่วนช่วงเวลาในการเพาะจนถึงเก็บดอกก็ใช้เวลาเพียง 10 วัน โดยที่ไม่ต้องรดน้ำใส่ปุ๋ย ก็สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนมาใช้จ่ายในครอบครัวได้แล้ว”
เทคนิคการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า
ต้นทุนต่ำ ทำรายได้หลักพันต่ออาทิตย์
เจ้าของบอกว่า สำหรับเทคนิคการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า มีวัสดุอุปกรณ์หลักๆ ที่ต้องเตรียมดังนี้
วัสดุที่ต้องเตรียม
วัสดุเพาะเห็ดฟางหลักๆ ได้แก่ ฟาง
ขี้ฝ้าย คือเศษที่เหลือมาจากการทอด้าย โดยทั่วไปขี้ฝ้ายจะเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับทำก้อนเชื้อเห็ด แต่ที่ฟาร์มจะนำเอาส่วนขี้ฝ้ายมาเป็นวัสดุในการเพาะเห็ดไว้เป็นตัวช่วยทำให้เชื้อเห็ดเดินดี ดอกก็จะออกมาให้เก็บได้เยอะ ถือเป็นเทคนิคสำคัญอีกข้อหนึ่ง แต่บางพื้นที่อาจจะหาได้ยาก ก็สามารถประยุกต์นำผักตบชวามาใช้แทนได้
เชื้อเห็ดฟาง
อาหารเสริม แป้งข้าวเหนียว และรำละเอียด
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
ตะกร้าพลาสติก สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป
อุปกรณ์สำหรับทำโรงเรือน โดยของที่ฟาร์มจะทำออกเป็น 2 แบบ คือ
1. โรงเรือนที่ทำมาจากท่อพีวีซี ต่อกันเป็นกระโจมขนาดเล็ก
2. โรงเรือนจากสุ่มไก่ คือการนำสุ่มไก่มาประยุกต์ทำเป็นโรงเรือน
วิธีการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า
เริ่มจากการนำฟางแช่น้ำไว้ 1 คืน และถ้าจะให้ดีต้องเป็นน้ำบาดาลหรือน้ำคลอง เพราะถ้าเป็นน้ำประปาจะมีคลอรีน หากนำฟางไปแช่คลอรีนในน้ำประปาจะซึมเข้าไปในฟาง หากนำไปเพาะ คลอรีนจะลงไปฆ่าเชื้อเห็ดหมดได้
หัวเชื้อ 1 ก้อน สามารถเพาะเห็ดได้ 3 ตะกร้า
นำฟางที่แช่ทิ้งไว้ 1 คืน มาพักให้สะเด็ดน้ำไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง (การเพาะเห็ดฟางในตะกร้าต้องทำทั้งหมด 3 ชั้นต่อ 1 ตะกร้า โดยในแต่ละชั้นจะประกอบไปด้วย ฟาง ขี้ฝ้าย และเชื้อเห็ด)
“เริ่มต้นจากชั้นแรก ให้ปูฟางอัดลงที่ก้นตะกร้าให้มีความหนาประมาณ 1 นิ้ว หลังจากนั้นโรยขี้ฝ้ายด้านบนฟางให้ชิดขอบตะกร้า เสร็จแล้วโรยเชื้อลงไปด้านบนขี้ฝ้าย โดยไม่ต้องโรยขี้ฝ้ายกับเชื้อเห็ดใส่ตรงกลาง อันนี้คือเสร็จ 1 ชั้น และทำชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 เหมือนชั้นที่ 1 พอถึงชั้นบนสุดก็จะใช้ฟางโปะด้านบนตะกร้าแบบบางๆ โรยเชื้อให้ทั่ว แล้วกลบด้วยอาหารเสริมอีกครั้ง”
สถานที่เพาะควรเป็นพื้นดินใต้ร่มไม้หรือร่มสนิท ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
นำตะกร้าเห็ดมาเรียงซ้อนกันเป็นแนวยาว หรือซ้อนกันเป็นรูปสามเหลี่ยม
“อย่างพื้นที่ของผมเป็นที่โล่งแจ้ง มุงหลังคาด้วยซาแรนพรางแสง หากมีการเพาะที่เดิมซ้ำกันหลายๆ ครั้ง จะต้องนำถุงพลาสติกปูคลุมดินก่อนชั้นแรก แล้วค่อยปูฟางทับอีกชั้น เพราะว่าเห็ดพวกนี้จะไม่ค่อยชอบกลิ่นเก่า จึงต้องแก้ด้วยการหาถุงพลาสติกมาปูทับพื้นดินเป็นชั้นแรกก่อน”
หลังจากปูพื้นดินพร้อมจัดเรียงตะกร้าเสร็จแล้ว ให้นำกระโจมที่เตรียมไว้ครอบลงไปแล้วคลุมทับด้วยพลาสติกอีกครั้ง
การดูแล
ในช่วงระยะ 4 วันแรก ต้องควบคุมอุณหภูมิภายในกระโจมหรือโรงเรือน ด้วยการคลุมถุงพลาสติกให้มิดชิด ห้ามให้อากาศเข้า เรียกว่าระยะบ่มใย
“ถ้าหากปล่อยให้อากาศเข้าไปได้ เชื้อจะไม่เดินและไม่จับดอก แล้วพอใยเดินไม่ได้ทั่วตะกร้า สารอาหารก็จะได้น้อย ดอกก็จะออกน้อย แต้ถ้าคลุมให้มิดชิดอากาศเข้าไปไม่ได้ เส้นใยจะเดินหาอาหารในตะกร้าที่ใส่ไปได้เต็มที่ พอหาอาหารได้เต็มที่ ครบ 4 วัน แล้วเปิดพลาสติกที่คลุมไว้ออกจะเห็นเส้นใยฟูออกนอกตะกร้า เขาเรียกว่าการตัดใย”
หลังจากครบระยะบ่มใยแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการตัดใย คือการใช้ฟ็อกกี้ หรือบัวรดน้ำ เติมน้ำสะอาด หรือถ้าเป็นบางสูตรจะผสมฮอร์โมนไข่ลงไปด้วย แต่ของที่ฟาร์มจะไม่ใช้ จะใช้แค่บัวรดน้ำ รดน้ำแบบผ่านๆ แค่พอให้เส้นใยได้สัมผัสน้ำ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เห็ดจับดอก แต่ถ้าในกรณีใช้ฟ็อกกี้ก็สามารถฉีดพ่นเข้าไปในตะกร้าได้เลย แค่พอให้เส้นใยเปียกเช่นกัน
หลังจากเราได้เส้นใยเสร็จแล้ว ให้กลับไปเพาะไว้ในกระโจมเหมือนเดิม แล้วเส้นใยของเห็ดฟางจะต้องการออกซิเจนในการจับดอก หรือต้องการอากาศถ่ายเท โดยการเจาะรูระบายอากาศไว้ที่ด้านบนของกระโจม และต้องเปิดระบายอากาศทุกวันเช้า-เย็น มีวิธีการคือ ไม่ต้องเปิดถุงพลาสติกออกทั้งหมด จะเปิดแค่เพียงครึ่งเดียว ในช่วงเช้าจะเปิดรับอากาศสักประมาณ 10-15 นาที แล้วคลุมปิดเหมือนเดิม พอตกเย็นเปิดรับอากาศอีกครั้ง อีกสักประมาณ 10-15 นาที แล้วคลุมเก็บไว้เหมือนเดิม ให้ทำแบบนี้เหมือนกันทุกวัน หากนับตั้งแต่วันที่ตัดใยจนถึงวันเก็บดอกจะใช้ระยะเวลา ประมาณ 7-8 วัน แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาว ระยะการให้ดอกจะยืดไปอีกเป็น 9-10 วัน หลังจากการรดน้ำตัดใย
วิธีการเก็บเกี่ยว หากเป็นดอกเดี่ยว สามารถใช้มือดึงออกมาได้เลย แต่ถ้าดอกออกมาในกระจุกเดียวกัน มีหลายดอก ดอกจะโตไม่เท่ากัน ต้องเลือกเก็บโดยให้ใช้มีดปลายแหลม หรือมีดปอกผลไม้ แคะไปที่กกดอกแล้วเก็บดอกที่โต พร้อมที่จะบาน โดยใน 1 อาทิตย์ ที่ฟาร์มสามารถสร้างรายได้จากการขายเห็ดฟาง เฉลี่ย 2,000-3,000 บาท ด้วยการแบ่งเพาะ อาทิตย์ละ 18 ตะกร้า ใช้เวลาดูแลช่วงเช้าและเย็นเพียงเท่านั้น ทำให้มีเวลาออกไปขายของ สร้างรายได้ประจำได้สบายๆ
มือใหม่ สนใจเพาะเป็นอาชีพเสริม
เริ่มต้นที่ 20 ตะกร้า ได้ไม่ยาก
สำหรับมือใหม่หัดเพาะ คุณชายน้อย แนะนำว่า ให้เริ่มต้นเพาะประมาณ 20 ตะกร้า ก็สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยวันละ 200-300 บาท โดยผลผลิตเห็ดสดต่อ 1 ตะกร้า จะเก็บได้ประมาณ 7-8 ขีด เมื่อเทียบกับต้นทุนเพียงหลักร้อย โดยราคาขายเห็ดฟางในปัจจุบันราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 100-120 บาท หากเพาะไม่เยอะ สามารถหาตลาดขายได้เองไม่ยาก เริ่มจากการหิ้วไปขายที่ทำงาน
“ตอนผมเริ่มต้นเพาะเห็ดใหม่ๆ ผมเริ่มต้นหาตลาดจากการหิ้วเห็ดที่ผมเพาะได้ไปขายที่โรงเรียน ขายให้กับคุณครู และเพื่อนๆ ส่วนแม่ของผมท่านก็จะหิ้วไปขายที่ทำงานด้วย แต่ถ้าหากใครเพาะเยอะ แนะนำให้หาตลาดรับซื้อก่อน หรือจะแบ่งขายทำเป็นถุงละครึ่งกิโลกรัมก็จะทำให้ขายง่ายขึ้น วันหนึ่งขายได้วันละ 2-3 กิโลกรัม ก็มีรายได้มาซื้อกับข้าววันละ 200-300 บาทแล้ว” คุณชายน้อย กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจชุดเพาะเห็ดไปทดลองเพาะ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 084-619-8740 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : ชายน้อย เห็ดฟาง